Abstract:
การศึกษาเปรียบเทียบผลของทรามาดอลและมอร์ฟีนต่อระดับของไอโซฟลูเรน ขณะแก้ไขกระดูกหักในสุนัขป่วย 2 กลุ่ม กลุ่มละ 10 ตัว สุนัขทุกตัวได้รับการเตรียมสลบด้วยเอซโปรมาซีน มาลีเอท 0.025 มก./กก. เข้าหลอดเลือดดำ วัดค่าสัญญาณชีพซึ่งได้แก่ อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันเลือด อัตราการหายใจ เปอร์เซ็นต์ของฮีโมโกลบินที่มีออกซิเจนจับอยู่ และอุณหภูมิก่อนและหลังการให้เอซโปรมาซีน มาลีเอท 5 นาที จากนั้นให้มอร์ฟีน ซัลเฟต 0.5 มก./กก. เข้ากล้ามเนื้อของสุนัขกลุ่มที่ 1 (กลุ่มควบคุม) และให้ทรามาดอลไฮโดรคลอไรด์ 5 มก./กก. เข้ากล้ามเนื้อของสุนัขกลุ่มที่ 2 (กลุ่มทดลอง) วัดค่าสัญญาณชีพต่างๆ และค่าก๊าซในเลือดในสุนัขทั้งสองกลุ่ม 15 นาที ภายหลังให้มอร์ฟีน ซัลเฟตและทรามาดอล ไฮโดรคลอไรด์ เหนี่ยวนำสลบด้วยโปรโปฟอลจนถึงระดับความลึก ที่สามารถสอดท่อช่วยหายใจได้ ให้สารน้ำแลคเตตริงเกอร์ ในอัตรา 10 มล./กก./ชม. เข้าทางหลอดเลือดดำ รักษาระดับการสลบด้วยไอโซฟลูเรนจนถึงระดับความลึกที่สามารถผ่าตัดได้ ควบคุมระดับความดันของคาร์บอนไดออกไซด์ในลมหายใจออก (ETCO[subscript 2]) ระหว่าง 30-35 มม. ปรอทตลอดการผ่าตัด วัดค่าสัญญาณชีพต่างๆ ปรับและบันทึกความเข้มข้นของไอโซฟลูเรนขณะผ่าตัด
จากการนำค่าเหล่านี้มาใช้ประเมินผล พบว่าอัตราการเต้นของหัวใจและความดันเลือดแดง systolic ในสุนัขกลุ่มทดลองหลังได้รับ ทรามาดอลลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) เมื่อเทียบกับก่อนได้รับยา ในขณะที่ไม่พบความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ของค่าสัญญาณชีพต่างๆ ระหว่างก่อนและหลังให้มอร์ฟีน ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของไอโซฟลูเรนในช่วง 15, 30, 45 และ 60 นาทีแรกของการดมยาในสุนัขทั้งสองกลุ่ม ไม่พบมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ถึงแม้ว่าที่นาทีที่ 15 ของการดมยาพบว่าสุนัขในกลุ่มทรามาดอลใช้ความเข้มข้นของไอโซฟลูเรน (1.99%) สูงกว่าสุนัขในกลุ่มมอร์ฟีน (1.56%) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ระหว่างการดมยาไม่พบมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ระหว่างสุนัขทั้งสองกลุ่มของค่าเฉลี่ยอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันเลือดแดง เปอร์เซ็นต์ของฮีโมโกลบินที่มีออกซิเจนจับอยู่ และปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในลมหายใจออก จากการศึกษาครั้งนี้สรุปว่าทรามาดอล ไฮโดรคลอไรด์ก่อนการผ่าตัด มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับมอร์ฟีนในการลดความเข้มข้นของไอโซฟลูเรนในช่วง 60 นาทีแรกของการผ่าตัดแก้ไขกระดูกหักในสุนัข