Abstract:
ละอองลอย (aerosol) เป็นส่วนประกอบหนึ่งของบรรยากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทั้งในมิติของเวลาและพื้นที่ อิทธิพลของละอองลอยต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศยังไม่เป็นที่แน่ชัดอันเป็นผลเนื่องจากการขาดข้อมูลและพฤติกรรมที่ซับซ้อนของในบรรยากาศ สถานีวิจัยชั้นบรรยากาศ ณ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2548 เพื่อทำการตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงของละอองลอยตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับสภาพของบรรยากาศอื่นๆ ซึ่งสถานีนี้เป็นสถานีอ้างอิงแห่งเดียวที่ตั้งอยู่บนพื้นทวีปบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในงานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของคุณสมบัติทางทัศนศาสตร์ของละอองลอยระหว่างเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2548 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2549 ได้แก่ ค่าความขุ่นมัวของบรรยากาศอันเนื่องมาจากละอองลอย ค่าคงที่ของอังสตรอม และค่าการกระเจิงกลับของรังสีแสงอาทิตย์อันเนื่องมาจากละอองลอย จากผลที่ได้จากการตรวจวัดสามารถแบ่งละอองลอยอกได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่แรกประกอบด้วยละอองลอยขนาดอนุภาคหยาบ (เส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 6 ไมครอน) แขวนลอยอยู่ในบรรยากาศช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน มีส่วนประกอบของเหล็กออกไซด์ซึ่งเป็นธาตุที่มีอยู่มากในดินบริเวณที่ทำการศึกษา มีคุณสมบัติในการดูดกลืนรังสีแสงอาทิตย์สูงโดยมีค่าการกระเจิงกลับของรังสีแสงอาทิตย์อันเนื่องมาจากละอองลอย 0.77+-0.15, 0.79+-0.15 และ 0.86+-0.17 ในช่วงความยาวคลื่น 0.4, 0.5 และ 0.87 ไมครอนตามลำดับ กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วยละอองลอยขนาดอนุภาคหยาบเช่นเดียวกันกับกลุ่มที่แรกแต่มีขนาดหยาบกว่าและสมบัติการดูดกลืนรังสีแสงอาทิตย์อันเนื่องมาจากละอองลอยต่ำกว่า ซึ่งอาจเป็นละอองลอยประเภทเกลือ เนื่องจากในบริเวณที่ทำการศึกษามีการพบแร่เกลือหินเป็นจำนวนมาก ละอองลอยกลุ่มที่ 2 นี้พบว่าแขวนลอยอยู่ในบรรยากาศช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ละอองลอยกลุ่มที่ 3 และ 4 มีขนาดละเอียดกว่าละอองลอยกลุ่มที่ 1 และ 2 อย่างเห็นได้ชัดโดยมีค่าคงที่ของอังสตรอม 1.13+-0.25 และ 1.15+-0.40 สำหรับละอองลอยกลุ่มที่ 3 และ 4 ตามลำดับ ความแตกต่างระหว่างละอองลอยทั้ง 2 กลุ่ม คือ ละอองลอยกลุ่มที่ 3 มีสมบัติในการดูดกลืนรังสีแสงอาทิตย์มากกว่าละอองลอยกลุ่มที่ 4 ซึ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับข้อมูลอื่น ทำให้คาดว่าละอองลอยกลุ่มที่ 3 และ 4 น่าที่จะเป็นละอองลอยที่เกิดจากการเผาไหม้มวลชีวภาพเช่นเดียวกัน แต่ละอองกลุ่มที่ 3 เกิดจากการเผาไหม้ในสภาพความชื้นสัมพัทธ์ในบรรยากาศต่ำกว่าจึงส่งผลทำให้มีคุณสมบัติในการดูดกลืนรังสีแสงอาทิตย์มากกว่า เมื่อพิจารณาค่าความขุ่นมัวของบรรยากาศร่วมกับปริมาณรังสีแสงอาทิตย์ที่ได้จาการตรวจวัดพบว่า ละอองลอยทำให้ปริมาณรังสีแสงอาทิตย์หายไปจากดุลพลังงานบนพื้นผิวโลกประมาณ 53.56 วัตต์ต่อตารางเมตร