Abstract:
ไซยานิดินและอนุพันธ์ เป็นสารพวกแอนโธไซยานินจากธรรมชาติ พบได้ทั่วไปในอาหารที่มนุษย์รับประทาน เช่น ธัญญพืช ถั่ว ผลไม้ ผัก และ ไวน์แดง การบริโภคแอนโธไซยานินเกี่ยวข้องกับการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น หลอดเลือดแข็งตัว โรคหัวใจ มะเร็ง และเบาหวาน การยับยั้งเอนไซม์อัลฟากลูโคซิเดสและอัลฟาอะไมเลส เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาที่เกี่ยวกับการดูดซึมคาร์โบไฮเดรต ช่วยชะลอการย่อยน้ำตาลโมเลกุลคู่ให้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว กระบวนการดังกล่าวช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสและมีผลให้ลดระดับน้ำตาลภายหลังรับประทานได้ ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาฤทธิ์การยับยั้งเอนไซม์ของไซยานิดิน และอนุพันธ์ รวมถึงกลไกการยับยั้งเอนไซม์อัลฟากลูโคซิเดสและอัลฟาอะไมเลส นอกจากนี้ยังศึกษาถึงการเสริมฤทธิ์การยับยั้งเอนไซม์อัลฟากลูโคซิเดสและอัลฟาอะไมเลสของไซยานิดิน และอนุพันธ์ร่วมกับอะคาร์โบส รวมทั้งศึกษาฤทธิ์ของไซยานิดิน หรือ อนุพันธ์ต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูขาว ผลการทดลองพบว่า ลำดับการยับยั้งเอนไซม์มอลเตสและซูเครส (อัลฟากลูโคซิเดส) ของไซยานิดินและอนุพันธ์เป็นดังนี้ คือ ไซยานิดิน-3- รูติโนไซด์ > ไซยานิดิน-3-กาแลคโตไซด์ >ไซยานิดิน-3-กลูโคโซด์ > ไซยานิดิน > ไซยานิดิน-3,5-กลูโคไซด์ และในขณะเดียวกัน ลำดับการยับยั้งเอนไซม์อัลฟาอะไมเลส คือ ไซยานิดิน-3- รูติโนไซด์ > ไซยานิดิน = ไซยานิดิน-3-กลูโคโซด์ > ไซยานิดิน-3-กาแลคโตไซด์ =ไซยานิดิน-3,5-กลูโคไซด์ ในความเข้มข้นต่ำของไซยานิดิน-3- รูติโนไซด์ ไซยานิดิน-3-กาแลคโตไซด์ และไซยานิดิน-3-กลูโคโซด์เสริมฤทธิ์แบบซินเนอร์จิสกับอะคาร์โบส ในการยับยั้งเอนไซม์มอลเตสและซูเครส อย่างไรก็ตามมีเพียงแต่ไซยานิดิน-3-รูติโนไซด์ เท่านั้นที่เสริมฤทธิ์แบบซินเนอร์จิสกับอะคาร์โบสที่ความเข้มข้นต่ำต่อการยับยั้งเอนไซม์อัลฟาอะไมเลส และจากการวิเคราะห์ชนิดการยับยั้งพบว่าไซยานิดิน-3-รูติโนไซด์และไซยานิดิน-3-กาแลคโตไซด์มีการยับยั้งเป็นแบบแข่งขันผสมต่อการยับยั้งเอนไซม์ซูเครส ไซยานิดิน-3- รูติโนไซด์ (Cya3R) ขนาด 100 และ 300 mg/kg สามารถชะลอการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสในหนูขาวภายหลังที่ได้รับการป้อนแป้ง น้ำตาลมอลโตสและน้ำตาลซูโครส ซึ่งสอดคล้องกับผลการทดลองในหลอดทดลอง นอกจากนี้ การให้ Cya3R ขนาด 30 mg/kg ร่วมกับ acarbose สามารถเสริมฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดของสัตว์ทดลองภายหลังได้รับการป้อนแป้ง น้ำตาลมอลโตสและน้ำตาลซูโครส ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่พบในหลอดทดลองเช่นกัน จากผลการศึกษาสรุปได้ว่า ไซยานิดินและอนุพันธ์เป็นตัวยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อัลฟากลูโคซิเดสและอัลฟาอะไมเลสที่มีประสิทธิภาพ จึงอาจสามารถนำมาใช้เพื่อชะลอการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสภายหลังการรับประทานอาหาร หรือใช้ร่วมกับอะคาร์โบสในการรักษาโรคเบาหวานได้