Abstract:
แห้ม (Coscinium fenestratum) เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคเบาหวาน โดยมีผู้นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ในขณะที่รายงานการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของแห้มยังมีไม่มากนัก จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ โดยวัตถุประสงค์ของการวิจัยคือ การศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดเอธานอลจากแห้ม ต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูปกติและหนูเบาหวาน และศึกษากลไกการออกฤทธิ์ต่อการกระตุ้นการหลั่งอินซูลินโดยตรงจากตับอ่อน และฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แอลฟ่ากลูโคซิเดส โดยเฉพาะเอนไซม์มอลเตสและซูเครส จากการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดแห้มต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูปกติและหนูเบาหวานด้วยวิธี oral glucose tolerance test (OGTT) โดยการป้อนน้ำตาล 3 ชนิด ได้แก่ กลูโคส มอลโตส และซูโครส พบว่า สารสกัดแห้มขนาด 250-1000 มก./กก. สามารถยับยั้งระดับน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นในหนูปกติกลุ่มที่ได้รับน้ำตาลทั้ง 3 ชนิด และการยับยั้งนี้จะผันแปรตามขนาดของสารสกัดที่เพิ่มขึ้น ส่วนในหนูเบาหวานพบว่า สารสกัดแห้มขนาด 500 มก./กก. สามารถลดระดับน้ำตาลได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในหนูกลุ่มที่ได้รับการป้อนน้ำตาลกลูโคสและมอลโตส และไม่มีผลลดระดับน้ำตาลในหนูกลุ่มที่ได้รับการป้อนน้ำตาลซูโครส จากนั้นคณะผู้วิจัยได้ทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดแห้มต่อการกระตุ้นการหลั่งอินซูลินโดยตรงจากตับอ่อน และฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แอลฟ่ากลูโคซิเดส จากลำไส้ของหนูขาว โดยเฉพาะเอนไซม์มอลเตสและซูเครส พบว่าสารสกัดแห้มขนาด 10 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สามารถกระตุ้นการหลั่งอินซูลินได้ในลักษณะของ biphasic คือมีการเพิ่มขึ้นของระดับอินซูลินอย่างรวดเร็วจากนั้นระดับอินซูลินจะลดต่ำลงและคงที่อยู่ในระดับหนึ่ง ที่สูงกว่าระยะพักเล็กน้อย ในขณะที่ berberine ณ ความเข้มข้นเดียวกัน สามารถกระตุ้นการหลั่งอินซูลินได้อย่างช้าๆ และเพียงเล็กน้อย โดยรูปแบบการเพิ่มขึ้นเป็นแบบ monophasic ซึ่งผลจากการทดลองบ่งชี้ว่า ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดของสารสกัดแห้ม น่าจะมีผลมาจากการกระตุ้นการหลั่งอินซูลินโดยตรงจากตับอ่อน นอกจากนี้สารสกัดแห้มยังสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์มอลเตสได้ดีกว่าซูเครส ซึ่งผลที่ได้จะคล้ายคลึงกับยา acarbose ที่ใช้เป็นกลุ่มควบคุม เมื่อศึกษาฤทธิ์กึ่งเฉียบพลันของสารสกัดเอธานอลจากแห้มทำโดยการป้อนทางปากในขนาด 500 มก./กก./วัน ติดต่อกันนาน 30 วัน ต่อระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด รวมทั้งการทำงานของตับและไตในหนูปกติและหนูเบาหวาน พบว่า สารสกัดเอธานอลจากแห้ม ไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมัน และการทำงานของตับในหมู่ปกติ ส่วนในหนูเบาหวานสารสกัดเอธานอลจากแห้มไม่มีผลต่อการเพิ่มของน้ำหนักตัว มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ ลดระดับโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ได้เล็กน้อย แต่เพิ่มระดับ HDL ได้ และไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการทำงานของตับ แต่อาจมีอันตายต่อไปได้โดยเฉพาะในหนูปกติ จากผลการทดลองดังกล่าวข้างต้นสรุปได้ว่า สารสกัดเอธานอลจากแห้ม มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ทั้งในหนูปกติและหนูเบาหวาน โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ผ่านทางการกระตุ้นการหลังอินซูลินจากตับอ่อน และการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์มอลเตสและซูเครส ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะนำสารสกัดเอธานอลจากแห้มมาพัฒนาเป็นยารักษาโรคเบาหวานต่อไปในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามสารสกัดเอธานอลจากแห้มอาจมีอันตรายต่อไตได้ จึงควรจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องความเป็นพิษเรื้อรังของสารสกัดแห้มโดยรทดสอบในระยะเวลาที่นานขึ้น เช่น 6 เดือน ถึง 1 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทดสอบในหนูเบาหวานต่อไป