Abstract:
ศึกษาหาวิธีการพยากรณ์ที่เหมาะสมสำหรับพยากรณ์มูลค่าการส่งออก อุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย เพื่อได้ตัวแบบพยากรณ์ที่ให้ความคลาดเคลื่อนต่ำ โดยนำเทคนิคทางสถิติมาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วยวิธีบอกซ์-เจนกินส์ เทคนิคการปรับให้เรียบแบบเลขชี้กำลัง วิธีการวิเคราะห์การถดถอยและวิธีแยกองค์ประกอบ โดยพิจารณาจากค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์ความคลาดเคลื่อนสัมบูรณ์ เป็นเกณฑ์ในการเปรียบเทียบวิธีการพยากรณ์ทั้ง 4 วิธี ในการศึกษาครั้งนี้ใช้ข้อมูลทุติยภูมิ ระหว่างปี 2527-2541 ที่รวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ดังนี้คือ ผลิตภัณฑ์ประชาชาติ (GDP) และมูลค่าการนำเข้าสินค้า จากหนังสือ International Financial Statistics Yearbook 1998 ซึ่งเป็นข้อมูลรายปี ระหว่างปี 2527-2541 จัดทำโดย International Monetary Fund ค่าจ้างขึ้นต่ำของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ จำนวนเครื่องจักร จำนวนคนงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอประเภทต่างๆ และปริมาณการผลิตเส้นด้าย ได้จากส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอ สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ดัชนีราคาผู้บริโภค และมูลค่าการส่งออกสิ่งทอ ได้จากกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ โดยก่อนที่จะวิเคราะห์หาตัวแบบนั้น ผู้วิจัยได้ปรับข้อมูลมูลค่าการส่งออกสิ่งทอประเภทต่างๆ ในเทอมของเงินบาท ให้อยู่ในเทอมของเงินดอลลาร์ ในการวิจัยครั้งนี้ศึกษาเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอในหมวดที่มีความสำคัญ 2 หมวดด้วยกันคือ เครื่องนุ่งห่ม และผ้าผืนและด้าย ซึ่งหมวดเครื่องนุ่งห่มประกอบด้วยเสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องยกทรง รัดทรงและส่วนประกอบ ถุงเท้าและถุงน่อง และถุงมือผ้า ส่วนหมวดผ้าผืนและด้ายประกอบด้วยผ้าผืน ด้ายเส้นใยประดิษฐ์และด้ายฝ้าย จากการเปรียบเทียบตัวแบบพยากรณ์ที่ได้จากวิธีการต่างๆ ทั้ง 4 วิธี โดยพิจารณาจากค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์ความคลาดเคลื่อนสัมบูรณ์แล้ว พบว่าตัวแบบพยากรณ์มูลค่าการส่งออกสิ่งทอโดยส่วนใหญ่ เหมาะกับการพยากรณ์โดยวิธีบอกซ์เจนกินส์ ส่วนตัวแบบพยากรณ์สำหรับสิ่งทอประเภทผ้าผืนและด้าย และประเภทผ้าผืนเท่านั้นที่เหมาะกับการพยากรณ์ โดยวิธีการวิเคราะห์การถดถอย หลังจากได้ตัวแบบพยากรณ์มูลค่าการส่งออกสิ่งทอแต่ละประเภทแล้ว ได้พยากรณ์มูลค่าการส่งออกสิ่งทอล่วงหน้าไปอีก 2 ปี คือปี 2542 และ 2543 คาดว่าสถานการณ์ส่งออกสิ่งทอประเภทเครื่องนุ่งห่ม ประเภทเสื้อผ้าสำเร็จรูป ประเภทถุงเท้าและถุ่งน่อง ประเภทถุงมือผ้า ประเภทด้ายเส้นใยประดิษฐ์และประเภทด้ายฝ้าย มีแนวโน้มลดลงกว่าปี 2541 ที่ผ่านมาค่อนข้างมาก โดยเฉลี่ยประมาณ 9.67% มีเพียงสิ่งทอประเภทเครื่องยกทรง รัดทรง และส่วนประกอบ ประเภทผ้าผืนและด้ายและประเภทผ้าผืนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นแต่ไม่มากนัก โดยเฉลี่ยประมาณ 1.75 เปอร์เซ็นต์ ตลอดระยะเวลา 10 ปีสิ่งทอประเภทเครื่องนุ่งห่มเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของประเทศ ได้สร้างมูลค่าอย่างมากมายให้แก่ประเทศไทยแต่มีแนวโน้มลดลงกว่าปี 2541 ที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก โดยเฉลี่ยประมาณประมาณ 4.08 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นรัฐบาลจึงควรมีการปรับปรุงแก้ไขในการกำหนดนโยบายและวางแผนงานต่างๆ ทีเกี่ยวข้องในการมุ่งส่งเสริมสินค้าอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย เพื่อจะได้ช่วยเพิ่มพูนรายได้ของประเทศ และยังคงรักษาความเป็นผู้นำในด้านนี้ไว้ได้ต่อไป