Abstract:
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบอัตราความสำเร็จของการรักษาประสาทฟันน้ำนมโดยวิธีแคลเซียม ไฮดรอกไซด์ พาร์เชียล พัลโพโตมี กับการรักษาประสาทฟันน้ำนมด้วยวิธีฟอร์โมครีซอล พัลโพโตมี ในฟันกรามน้ำนมล่าง ศึกษาทางคลินิกที่ 6 เดือน และ 12 เดือน โดยทำการคัดเลือกตัวอย่างฟันกรามน้ำนมล่างที่มีลักษณะตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ จำนวน 63 ซี่ฟัน จากจำนวนผู้ป่วย 40 คน จัดตัวอย่างแบบสุ่มเข้าสู่การรักษาแต่ละวิธี ประเมินความสำเร็จทางคลินิกและภาพถ่ายรังสีที่ 6 เดือน และ 12 เดือนหลังการรักษา โดยทันตแพทย์สำหรับเด็กผู้ประเมินไม่ทราบว่าตัวอย่างใดได้รับการรักษาด้วยวิธีใด สำหรับการประเมินทางภาพถ่ายรังสี ตัวอย่างจะถูกประเมินแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มประสบความสำเร็จ กลุ่มที่จะติดตามผลการรักษาต่อไปและกลุ่มประสบความล้มเหลว เมื่อสิ้นสุดการศึกษา คงเหลือจำนวนตัวอย่าง 63 ซึ่ วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างผลการรักษากับชนิดของการรักษาด้วยสถิติ ไคสแควร์เทสต์ (Chi-square test) ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ผลการศึกษาพบว่า ที่ระยะเวลา 6 เดือน สามารถติดตามผลการรักษาจากตัวอย่างได้ครบทุกซี่ผลการประเมินทางคลินิกไม่พบว่ามีตัวอย่างใดมีลักษณะความล้มเหลวตามเกณฑ์ที่วางไว้ การรักษาด้วยวิธีพาร์เชียลพัลโพโตมี มีอัตราความสำเร็จร้อยละ 96.87 สูงกว่าอัตราความสำเร็จของการรักษาด้วยวิธีฟอร์โมครีซอล พัลโพโตมี ซึ่งมีอัตราความสำเร็จร้อยละ 90.32 โดยในกลุ่มฟอร์โมครีซอล พบตัวอย่างที่จัดอยู่ในกลุ่มติดตามผลการรักษาต่อไปร้อยละ 9.68 ตัวอย่างเดียวที่ล้มเหลวพบพยาธิสภาพบริเวณปลายรากฟันในกลุ่มพาร์เชียล พัลโพโตมี ที่ระยะเวลา 12 เดือน อัตราความสำเร็จของการรักษาด้วยวิธีพาร์เชียล พัลโพโตมีอยู่ที่ร้อยละ 96.77 และวิธีฟอร์โมครีซอลพัลโพโตมี ร้อยละ 90.32 ความล้มเหลวอีก 1 ตัวอย่างที่พบนอกเหนือจากที่ 6 เดือน ได้แก่การละลายตัวภายในคลองรากฟันที่มีการลุกลามมากขึ้นในกลุ่มฟอร์โมครีซอล พัลโพโตมี โดยไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติสำหรับการรักษาทั้ง 2 วิธี (p = 0.7, p = 0.7)