Abstract:
การคลายเกลียวของสกรูหลักยึดนั้นถือเป็นปัญหาหนึ่งของการบูรณะด้วยรากเทียม และจากการหลายการศึกษาที่ชี้ให้เห็นถึงผลของแรงบิดขันต่อแรงเริ่มต้นของข้อสกรู การวัดแรงเริ่มต้นนั้นสามารถทำได้หลายวิธีและวิธีหนึ่งคือการวัดค่าแรงบิดย้อนกลับ ถึงแม้ว่าปัจจุบันมีรากเทียมหลายระบบขายอยู่ในท้องตลาด แต่ราคาการบูรณะด้วยรากเทียมนั้นยังค่อนข้างสูง การผลิตรากเทียมใช้ในประเทศเป็นวิธีหนึ่งที่จะสามารถลดปัญหานี้ได้ ซึ่งการวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาผลของแรงบิดขันและการทดสอบความล้าต่อค่าแรงบิดย้อนกลับของสกรูหลักยึดรากเทียมที่ผลิตขึ้นในโครงการวิจัยพัฒนาผลิตรากเทียมและอุปกรณ์ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 6 กลุ่ม คือกลุ่มที่ 1,2 และ 3 ใช้แรงบิดขัน20,30 และ35 นิวตัน.ซม. ตามลำดับและไม่ผ่านการทดสอบความล้า กลุ่มที่ 4,5 และ6 ใช้แรงบิดขัน 20,30 และ 35 นิวตัน.ซม. ตามลำดับและผ่านการทดสอบความล้า การทดสอบความล้าทำตามข้อกำหนดของสถาบันรองมาตรฐานไอเอสโอ โดยให้แรงทำมุม 30 องศากับแกนตามยาวส่วนยึดตรึง ขนาดแรงที่ใช้ 60 นิวตัน ความถี่ 80 ครั้งต่อนาที จำนวน 1,000,000 รอบ เทียบเท่าการใช้งานในช่องปากนานประมาร 5 ปี ในการวิจัยนี้ใช้ไขควงที่ด้ามจับต่อเข้ากับเครื่องวัดแรงบิดโทนิชิเพื่อควบคุมให้ได้แรงบิดขันตามที่กำหนด และทำการคลายเกลียวสกรูเพื่อวัดแรงบิดย้อนกลับด้วยไขควงที่ด้ามจับต่อเข้ากับเครื่องวัดแรงบิดแล้วทำการอ่านค่า ทำการวัดค่าของกลุ่มที่ 1 -3 หลังจากขันสกรูผ่านไปเป็นเวลา 24 ชม.และทำการวัดค่าของกลุ่มที่ 4-6 หลังจากการทดสอบความล้าเสร็จสิ้น นำผลที่ได้มาคำนวณทางสถิติพบว่าค่าเฉลี่ยแรงบิดย้อนกลับเรียงลำดับจากน้อยไปมากได้ดังนี้ กลุ่มที่ 4(7.250+-0.957 นิวตัน.ซม.) กลุ่มที่ 5(11.000+-0.816 นิวตัน.ซม.) กลุ่มที่ 6(13.000+-0.816 นิวตัน.ซม.)กลุ่มที่ 1(15.750+-1.500 นิวตัน.ซม.) กลุ่มที่ 2(21.500+-1.291 นิวตัน.ซม.) และกลุ่มที่ 3(25.750+- 0.957 นิวตัน.ซม.)จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบ 2 ทาง พบว่าแรงบิดขัน การทดสอบความล้า และอิทธิพลร่วมจาก 2 ปัจจัยดังกล่าวมีผลตอแรงบิดย้อนกลับอย่างมีนัยสำคัญ(p น้อยกว่า.05) และจากการเปรียบเทียบเชิงซ้อนพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างค่าเฉลี่ยแรงบิดย้อนกลับของแต่ละกลุ่ม ยกเว้นการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ 5 และ 6 จากผลการวิจัยครั้งนี้จึงแนะนำว่าหากมีการนำรากเทียมระบบที่ผลิตขึ้นนี้ไปใช้ในทางคลินิกควรเลือกใช้แรงบิดขนาด 35 นิวตัน.ซม.ในการขันสกรูหลักยึดรากเทียมเพื่อให้เกิดเสถียรภาพของข้อต่อสกรู