Abstract:
ศึกษาผลกระทบจากนโยบายและมาตรการกำหนดราคาและรักษาระดับราคาข้าวของรัฐบาลในจังหวัดฉะเชิงเทราและรวบรวมแนวทางความพยายามแก้ปัญหาของเกษตรกรเอง ตลอดจนมุ่งเสนอแนะมาตรการแก้ไข เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายและมาตรการกำหนดราคาข้าว และรักษาระดับราคาข้าวในจังหวัดฉะเชิงเทรานั้น พบว่ายังไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้เนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ คือ ประการแรก นโยบายและมาตรการมีความล่าช้ากว่าฤดูเก็บเกี่ยวทุกปีเว้นปี ประโยชน์ที่เกิดขึ้นบ้างจึงมักไปตกแก่โรงสีและมิได้ตกแก่เกษตรกรส่วนใหญ่ ประการที่สอง การดำเนินมาตรการด้านตลาดและด้านราคานี้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบทุกปี แทนที่จะมีรูปแบบที่มุ่งแก้ปัญหาระยะยาว ประการที่สาม นโยบายและมาตรการไม่คล่องตัวให้สามารถปรับตัวกับสภาพที่แตกต่างกันของท้องที่ ประกอบกับมีขั้นตอนวิธีปฏิบัติที่ซับซ้อนยุ่งยากจนเกษตรกรเหนื่อยหน่าย สาเหตุต่างๆเหล่านี้จึงทำให้มาตรการต่างๆ ไม่มีผลต่อปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำและไม่มีผลต่อเกษตรกรเท่าไรนัก ข้อเสนอแนะที่สำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมบทบาทและขีดความสามารถของบรรดาเกษตรกรซึ่งมีความพยายามรวมกลุ่มกันหาทางออกอยู่แล้ว อาทิเช่น การสร้างเครื่องอบความชื้นข้าวเปลือก ซึ่งได้รับการสนับสนุนในโครงการ กสช. และก็ได้รับรางวัลการประกวดจากกรมวิชาการเกษตร การจัดตั้งโครงการชาวนาขายข้าวสารเอง และจัดสร้างเครื่องสีข้าวขึ้นเอง ขณะที่มาตรการแทรกแซงราคาข้าวไม่ได้ผล เกษตรกรก็ได้ช่วยเหลือตนเองจนปรากฏเป็นผลงานที่น่าชื่นชม ดังนั้นขณะที่นโยบายข้าวในระดับชาติอันรวมถึงการยกเลิกค่าพรีเมียมทั้งยังไม่มีการปรับแก้หรือยกเลิกทางรัฐบาลและราชการจึงน่าจะส่งเสริมความพยายามของกลุ่มเกษตรกรเหล่านี้ให้มากขึ้น เพราะแนวทางนี้เองที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองในระดับชุมชน ท่ามกลางภาวะราคาข้าวไม่แน่นอน การทำนาขาดทุนและหนี้สินเรื้อรังเช่นนี้