Abstract:
วัตถุประสงค์ : ศึกษาผลของวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันกลาสไอโอโนเมอร์ต่อปริมาณฟลูออไรด์และระดับปริมาณเชื้อมิวแทนส์ สเตรปโตคอคไค ในคราบจุลินทรีย์ ในฟันกรามแท้ที่ขึ้นใหม่ วัสดุและวิธีการ : กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้คือ เด็กอายุ 10-13 ปี ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดฟันผุจำนวน 45 คน ที่มีฟันกรามแท้ซี่ที่สองขึ้นสู่ช่องปากเพียงบางส่วน และได้รับการเคลือบหลุมร่องฟันด้วยกลาสไอโอโนเมอร์ เก็บตัวอย่างคราบจุลินทรีย์ในช่วงเวลาก่อนและหลังการเคลือบหลุมร่องฟัน 7, 14 และ 28 วัน วัดปริมาณฟลูออไรด์และระดับเชื้อมิวแทนส์ สเตรปโตคอคไค ด้วยวิธีโมดิฟายด์ ไมโครดิฟฟิวชันและชุดตรวจสำเร็จรูปข้างเก้าอี้ตามลำดับ ผลการศึกษา : ปริมาณฟลูออไรด์ในคราบจุลินทรีย์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.0001) และมีการลดลงของระดับปริมาณเชื้อมิวแทนส์ สเตรปโตคอคไค อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.0001) หลังจากเคลือบหลุมร่องฟันด้วยกลาสไอโอโนเมอร์ 7 วัน อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีค่าลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อระยะเวลาผ่านไป สรุป : จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่า การเคลือบหลุมร่องฟันในฟันกรามแท้ซี่ที่สองที่ขึ้นสู่ช่องปากเพียงบางส่วนด้วยกลาสไอโอโนเมอร์ ทำให้มีการแปลี่ยนแปลงของปริมาณฟลูออไรด์ในคราบจุลินทรีย์ และระดับปริมาณเชื้อมิวแทนส์ สเตรปโตคอคไค อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติแต่อยู่ในช่วงเวลาไม่นาน