Abstract:
การศึกษาเรื่อง "ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีภรรยาน้อยของผู้ชาย" มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาคือ เพื่อศึกษาถึงอิทธิพลของปัจจัยต่างๆ อันได้แก่ ปัจจัยเกี่ยวกับภูมิหลัง ประกอบด้วย อายุ อาชีพ รายได้ และปัจจัยอื่นๆ อันได้แก่ ปัจจัยเกี่ยวกับการขัดเกลาทางสังคม อำนาจการตัดสินใจในครอบครัว ความพึงพอใจในชีวิตสมรส และความใกล้ชิด ที่มีต่อการมีภรรยาน้อยของผู้ชาย โดยเป็นการศึกษาถึงสาเหตุและความสัมพันธ์ในครอบครัวของผู้ชายที่มีภรรยาน้อย อันจะเป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการที่ผู้ชายมีภรรยาน้อยได้ ประชากรที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ กลุ่มตัวอย่างจากประชากรเพศชายที่สมรสแล้วตามกฎหมาย และมีภรรยาน้อยอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ ใช้การคัดเลือกตัวอย่างประชากรแบบไม่มีความน่าจะเป็น (Nonprobability sampling) และเป็นการคัดเลือกตัวอย่างตามแต่เผอิญ (Accidental sampling) จำนวน 15 ราย สำหรับผลการวิจัยสรุปได้ว่า ผู้ชายที่มีภรรยาน้อยส่วนใหญ่อายุมากกว่า 30 ปี การศึกษาส่วนใหญ่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี เมื่อพิจารณาจากรายได้นั้นพบว่าผู้ชายที่มีภรรยาน้อยนั้น เป็นผู้ชายในทุกระดับชั้นทางสังคม และพบว่าส่วนใหญ่มีรายได้ระดับปานกลาง ในด้านอาชีพพบว่าผู้ชายที่มีภรรยาน้อยนั้นส่วนใหญ่มีอาชีพรับราชการ ในด้านปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีภรรยาน้อยนั้นพบว่ามีปัจจัยที่มีอิทธิพลได้แก่ ปัจจัยเกี่ยวกับการขัดเกลาทางสังคมอันประกอบด้วย การเลียนแบบสมาชิกในครอบครัวและการเลียนแบบเพื่อน ปัจจัยเกี่ยวกับอำนาจการตัดสินใจในครอบครัว ปัจจัยเกี่ยวกับความพึงพอใจในชีวิตสมรส อันได้แก่ ความไม่พึงพอใจในนิสัยที่เปลี่ยนแปลงของคู่สมรส และปัจจัยเกี่ยวกับความใกล้ชิด ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยที่ยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้ ส่วนปัจจัยที่ปฏิเสธได้แก่ ปัจจัยเกี่ยวกับความไม่พึงพอใจต่อการทำงานนอกบ้านของคู่สมรส และปัจจัยที่เกี่ยวกับความไม่พึงพอใจในความสัมพันธ์ทางเพศกับคู่สมรส