Abstract:
โรคเบาหวานที่พบคณะตั้งครรภ์ มีความเกี่ยวข้องกับภาวะแทรกซ้อนต่อมารดาและทารก กลไกการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดจากการที่ร่างกายผลิตอินซูลินออกมาได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ร่วมกับการที่ร่างกายมีภาวะดื้ออินซูลินมากขึ้นขณะตั้งครรภ์ การวินิจฉัยโรคเบาหวานที่พบขณะตั้งครรภ์ในปัจจุบัน อาศัยการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังการทำ oral glucose tolerance test (OGTT) การศึกษานี้ ต้องการศึกษาว่าการประเมินภาวะดื้ออินซูลิน โดยการตรวจระดับน้ำตาลและระดับอินซูลินในเลือดในช่วงอดอาหารและคำนวณภาวะดื้ออินซูลิน และการตรวจระดับไขมันในเลือดสามารถใช้พยากรณ์ผลของการตั้งครรภ์ต่อมารดาและทารกได้หรือไม่ ทั้งในหญิงที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์และหญิงตั้งครรภ์ปกติ หญิงตั้งครรภ์จำนวน 538 ราย ได้รับการทำ OGTT และตรวจพบเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์จำนวน 172 ราย (32.0%) กลุ่มที่เป็นเบาหวานมีระดับน้ำตาลที่ตั้งต้น 1, 2 และ 3 ชั่วโมง ระดับอินซูลิน การคำนวณภาวะดื้ออินซูลิน โดยวิธี HOMA1IR, HOMA2IR และ QUICKI สูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เป็นอย่างมีนัยสำคัญ การประเมินการทำงานของเบต้าเซลล์ของตับอ่อนโดยวิธี HOMA%B ระดับไตรกลีเซอไรด์และสัดส่วนไตรกลีเซอไรด์ต่อ HDL cholesterol สูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เป็นอย่างมีนัยสำคัญด้วยเช่นกัน เมื่อเปรียบเทียบผลของการตั้งครรภ์ต่อมารดาและทารก พบว่ากลุ่มที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีอัตราผ่าคลอดทางหน้าท้อง และเกิด placental previa มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เป็นเบาหวานอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับภาวะแทรกซ้อนของทารก พบโอกาสเกิด hypoglycemia มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับภาวะ macrosomia พบมีมากกว่าแต่ยังไม่ถึงนัยสำคัญ (P=0.06) เมื่อนำภาวะดื้ออินซูลิน คำนวณโดยวิธี HOMA1IR มาแบ่งหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมดตาม quartile พบว่า quartile ที่มีภาวะดื้ออินซูลินสูงที่สุด มีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง และการเกิด preeclampsia มากกว่ากลุ่ม quartile ที่มีภาวะดื้ออินซูลินต่ำที่สุดอย่างมีนัยสำคัญและทารกที่เกิดจากมารดาที่มีค่า HOMA1IR ใน quartile ที่ดื้ออินซูลินสูงที่สุดมีความเสี่ยงของการเกิด macrosomnia มากกว่าทารกทีเกิดจากมารดาที่มีค่า HOMA1IR ใน quartile ต่ำกว่าด้วย เมื่อนำค่า HOMA1IR เฉพาะในหญิงที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาแบ่งเป็น quartile พบว่าความเสี่ยงของมารดาต่อการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง และความเสี่ยงของการเกิด mild preeclampsia แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน นอกจากนี้ พบว่าทารกที่เกิดจากมารดาที่มีค่า HOMA1IR ใน quartile ที่ดื้ออินซูลินสูงที่สุด มีความเสี่ยงต่อการเกิด hypoglycemia มากกว่าทารกที่เกิดจากมารดาที่มีค่า HOMAlIR ใน quartile ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญด้วย การประเมินภาวะดื้ออินซูลิน คำนวณโดยวิธี HOMA1IR เป็นวิธีใหม่ที่สามารถใช้ในการพยากรณ์ความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ต่อมารดาและทารกได้ เพิ่มเติมจากการจำแนกโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์เพียงอย่างเดียว