Abstract:
ในระหว่างเดือน ส.ค. 2548-ก.ค. 2549 ได้สุ่มเก็บตัวอย่างหอยแครง 376 ตัวอย่าง จากตลาดในจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงครามและกรุงเทพมหานคร ตัวอย่างเนื้อไก่ เนื้อสุกร และเนื้อโคชนิดตัวอย่างละ 100 ตัวอย่าง จากตลาดและซุปเปอร์มาร์เก็ตในกรุงเทพมหานคร ตัวอย่างอาหารสำเร็จรูปชนิดเม็ดและชนิดเปียกบรรจุกระป๋องสำหรับสุนัข 107 ตัวอย่าง สำหรับแมว 100 ตัวอย่าง รวมทั้งตัวอย่างอาหารสำเร็จรูปสำหรับไก่ 112 ตัวอย่าง และสำหรับสุกร 126 ตัวอย่าง พบความชุกของเชื้อเอ็นเตอโรค็อคซัยที่ดื้อยาแวนโคมัยซิน (MIC 8 micro g/mL) ในตัวอย่างหอยแครง 6.6% เนื้อไก่ 5% เนื้อสุกร 3% เนื้อโค 13% อาหารสุนัข 0.93% อาหารไก่ 0.89% อาหารแมวและอาหารสุกร 0% โดยในตัวอย่างหอยแครงพบว่าเป็นเชื้อ E. faecium, E. faecalis, E. gallinarum และ E. casseliflavus จำนวน 15, 5, 3 และ 2 ตัวอย่าง ตามลำดับ ส่วนในตัวอย่างเนื้อไก่ เนื้อสุกร และเนื้อโคพบว่าเป็นเชื้อ E. gallinarum, E. faecalis และ E. faecium จำนวน 12, 7 และ 2 ตัวอย่าง ตามลำดับ สำหรับตัวอย่างอาหารสุนัขและอาหารไก่พบว่าเป็นเชื้อ E. gallinarum ชนิดละหนึ่งตัวอย่าง ทั้งนี้มีเพียง E. faecalis 2 ตัวอย่างเท่านั้น (ที่แยกได้จากตัวอย่างเนื้อไก่ในซุปเปอร์มาร์เก็ต) ที่พบว่ามีค่า MIC ต่อยาแวนโคมัยซิน 32 micro g/mL และจากผลการทดสอบความไวรับต่อยาไทโคพลานินสรุปได้ว่าเป็นชนิด vanA เพียง 1 ตัวอย่างเท่านั้น ดังนั้น เชื้อเอ็นเตอโรค็อคซัยที่ดื้อยาแวนโคมัยซินในสิ่งแวดล้อม อาหารสัตว์และเนื้อสัตว์จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาทางสาธารณสุขในประเทศไทย อย่างไรก็ดียาต้านจุลชีพอื่นๆ ที่ทดสอบโดยภาพรวมพบว่าเชื้อเอ็นเตอโรค็อคซัยดื้อต่อยาอิริโทรมันซิน เตตร้าซัยคลิน และไทโลซินค่อนข้างสูง ดังนั้น ยังมีความจำเป็นต้องรณรงค์เรื่องการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างรอบคอบและเหมาะสมต่อไป ทั้งในคนและในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์