Abstract:
ในขณะที่การศึกษาศักยภาพสถิตย์ (Static potential) ของท่าเรือ คือการศึกษาความได้เปรียบทางทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ระบบการขนส่งที่เชื่อมต่อท่าเรือกับพื้นที่แนวหลัง การบริการของท่าเรือ ค่าบริการของท่าเรือ และเสถียรภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศที่ท่าเรือนั้นๆ ตั้งอยู่ การศึกษาศักยภาพจล (Dynamic potential) คือ การศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อปริมาณสินค้าและเรือผ่านท่าเรือ ศักยภาพจลแตกต่างจากศักยภาพสถิตย์ตรงที่ศักยภาพจลเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การศึกษาศักยภาพจลของท่าเรือไทยจะเน้นไปที่ท่าเรือที่ให้บริการแก่สาธารณะซึ่งให้บริการด้านตู้สินค้า ได้แก่ ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือสาธารณะ 5 แห่งในแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือสงขลา และท่าเรือภูเก็ต จากการศึกษาพบว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลกะทบต่อศักยภาพจลของท่าเรือไทย ได้แก่ การค้าทางทะเล รูปแบบการขนส่งทางทะเล ปัจจัยที่รัฐเป็นผู้กำหนดขึ้น ปัจจัยที่เกิดจากสายเดินเรือ และปัจจัยที่เป็นผลกระทบจากท่าเรือที่เป็นคู่แข่ง ปริมาณการค้าทางทะเลมีผลกะทบต่อปริมาณสินค้าผ่านท่าเรือทั้งในทางบวกและทางลบ ในช่วงปี 2530-2537 ซึ่งเป็นช่วงที่การส่งออกของประเทศไทยขยายตัวสูงสุด ส่งผลให้ท่าเรือกรุงเทพซึ่งเป็นท่าเรือหลักแห่งเดียวของประเทศประสบกับปัญหาท่าเรือแออัดอย่างรุนแรง และนำไปสู่การก่อสร้างท่าเรือหลักแห่งใหม่ที่แหลมฉบัง รัฐได้ตระหนักถึงการมีประตูการค้าเพิ่มขึ้น จึงได้ก่อสร้างท่าเรือใหม่อีกหลายแห่ง ได้แก่ ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือสงขลา และท่าเรือภูเก็ต หลังจากปี 2540 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยประสบกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือกรุงเทพลดลง ส่งผลให้ปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือสาธารณะ 5 แห่งในแม่น้ำเจ้าพระยา สตส.และ รพท. เอกชน ลดลงไปด้วยทั้งนี้เพราะสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาท่าเรือแออัดของท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือมาบตาพุดก็ได้รับผลกะทบจากวิกฤตเศรษฐกิจจนต้องชะลอโครงการพัฒนาท่าเรือในระยะต่อไป ผลกระทบอีกประการหนึ่งคือ หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจการส่งออกของไทยสูงกว่านำเข้าหลายเท่าตัว ส่งผลให้ต้องมีการนำเข้าตู้เปล่าเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสินค้าส่งออกเพิ่มสูงขึ้น รูปแบบการขนส่งสินค้าทางทะเลได้เปลี่ยนจากสินค้าทั่วไปมาเป็นระบบตู้สินค้า ทำให้ท่าเรือกรุงเทพต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้สามารถรองรับการขนส่งระบบนี้ อย่างไรก็ตามท่าเรือแห่งนี้กำลังจะลดความสำคัญลงเนื่องจากความเสียเปรียบในด้านทำเลที่ตั้ง กล่าวคือ ร่องน้ำมีความลึกจำกัดทำให้ไม่สามารถรับเรือแม่ได้ ท่าเรือแหลมฉบังได้ก้าวขึ้นมาเป็นท่าเรือหลักของประเทศแทน ปัจจัยที่รัฐกำหนดขึ้นและมีผลกระทบต่อการแข่งขันระหว่างท่าเรือ ได้แก่ ปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือกรุงเทพไม่เกิน 1 ล้าน TEUs ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้ผู้ส่งสินค้าไปใช้ท่าเรือแหลมฉบังแทน หรือมาตรการจำกัดปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือสาธารณะ 5 แห่งในแม่น้ำเจ้าพระยารวมกันได้ไม่เกิน 250,000 TEUs ต่อปี ในความเป็นจริงแล้วท่าเรือเอกชนเหล่านี้มีข้อจำกัดในการพัฒนาหรือเพิ่มศักยภาพของท่าเรือ ทั้งนี้เนื่องจากรัฐไม่เคยมีนโยบายในการพัฒนาท่าเรือเอกชน บทบาทของรัฐที่มีต่อท่าเรือเอกชนเป็นการกำกับควบคุมมากกว่าการส่งเสริมหรือสนับสนุน นอกจากนโยบายของรัฐ ความเสียเปรียบด้านทำเลที่ตั้ง ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ท่าเรือกรุงเทพต้องสูญเสียปริมาณตู้สินค้าให้แก่ท่าเรือแหลมฉบัง คือ นโยบายด้านการตลาดของผู้ประกอบการท่าเทียบเรือต่างๆ ในท่าเรือแหลมฉบังซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการสายเดินเรือที่ชักจูงให้เรือแม่แวะจอดที่ท่าเรือแหลมฉบัง ส่งผลให้ท่าเรือสามารถเสนอบริการที่ดีกว่าด้วยค่าขนส่งที่ต่ำกว่าท่าเรือกรุงเทพที่ต้องอาศัยการขนส่งตู้สินค้าด้วยระบบเรือ Feeder นอกจากนี้ท่าเรือกรุงเทพยังได้รับผลกระทบจาก รพท. ลาดกระบังซึ่งเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกเสริมขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบังในการรับตู้สินค้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล และด้วยนโยบายด้านการตลาดของสายเดินเรือต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการในท่าเรือแหลมฉบังและ รพท. ลาดกระบัง ที่ให้เจ้าของสินค้า สามารถรับตู้สินค้าที่ รพท. ได้โดยเสียค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกับที่ท่าเรือแหลมฉบัง ทำให้แย่งฐานลูกค้าส่วนหนึ่งจากท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือสงขลาเป็นท่าเรืออีกแห่งหนึ่งที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกับท่าเรือกรุงเทพ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาร่องน้ำที่ทำให้ไม่สามารถรับเรือแม่ได้ และการที่ต้องสูญเสียปริมาณตู้สินค้ากว่าครึ่งให้กับท่าเรือปีนัง สาเหตุที่ผู้ส่งออกนิยมส่งตู้สินค้าผ่านท่าเรือปีนัง คือ ค่าขนส่งตู้สินค้าผ่านท่าเรือปีนังโดยรวมต่ำกว่าท่าเรือสงขลา จากการศึกษาพบว่าท่าเรือไทยเข้าสู่สภาพการแข่งขันน้อยมาก ทั้งนี้เพราะรัฐมักจะออกมาตรการที่ช่วยให้ท่าเรือหนึ่งได้เปรียบท่าเรืออื่นๆ เสมอ ในขณะที่บรรยากาศการแข่งขันอย่างแท้จริงเท่านั้นที่จะช่วยให้ท่าเรือสามารถรักษาศักยภาพจลของท่าเรือนั้นไว้ได้ แทนที่จะแทรกแซงรัฐควรดูแลให้ทุกฝ่ายมีความเท่าเทียมกันในด้านการแข่งขัน และที่สำคัญที่สุด คือ รัฐควรให้ความสนใจกับการแข่งขันกับท่าเรือในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งนับวันจะคุกคามและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น