Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) สำรวจระดับความรู้และความคิดเห็นต่อการนอนกัดฟันของผู้ป่วยที่มารับการรักษาทางทันตกรรม และ (2) ศึกษาผลของปัจจัยด้านเพศ อายุ ระดับการศึกษา การรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการนอนกัดฟัน และการรายงานการนอนกัดฟันต่อระดับความรู้และความคิดเห็น ทำการศึกษาในคณะทันตแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2547 โดยผู้ป่วยจำนวน 450 คนตอบแบบสอบถามซึ่งประกอบด้วยแบบวัดความรู้จำนวน 25 ข้อ ครอบคลุมเนื้อหาต่างๆ ของการนอนกัดฟัน และแบบสอบถามความคิดเห็นต่อการนอนกัดฟันในด้านต่างๆ จำนวน 20 ข้อ แบบสอบถามนี้ผ่านการประเมินความตรงโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ในสาขาทันตแพทยศาสตร์และสาขาสังคมศาสตร์ และผ่านการทดสอบความเที่ยง โดยแบบวัดความรู้มีค่าความเชื่อมั่น .8778 และแบบสอบถามความคิดเห็นมีค่าความเชื่อมั่น .8224 ผลศึกษาพบว่าผู้ป่วยมีคะแนนรวมในด้านความรู้เรื่องนอนกัดฟันโดยเฉลี่ยร้อยละ 39.8 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับน้อย ผู้ป่วยร้อยละ 51.6-81.9 เห็นว่าการนอนกัดฟันมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันไม่มากนัก และผู้ป่วยร้อยละ 50.7-68.9 ไม่ค่อยสนใจติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการนอนกัดฟัน แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่มารับการรักษาทางทันตกรรมร้อยละ 78.9 ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาการนอนกัดฟัน ในส่วนของความรู้พบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในผู้ป่วยที่มีเพศ อายุ และการรายงานการนอนกัดฟันต่างกัน ผู้ป่วยที่มีการศึกษาระดับสูงและผู้ป่วยที่เคยรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการนอนกัดฟันจะมีความรู้มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (p<.01) ในส่วนของความคิดเห็นพบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในผู้ป่วยที่มีเพศ อายุ ระดับการศึกษา และการรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการนอนกัดฟันต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่รายงานการนอนกัดฟันต่างกันมีความคิดเห็นต่อการนอนกัดฟันต่างกันบ้างอย่างมีนัยสำคัญ (p<.01) โดยสรุปพบว่าถึงแม้ผู้ป่วยที่มารับการรักษาทางทันตกรรมจะตระหนักถึงความสำคัญในการรักษา แต่ผู้ป่วยก็ยังมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนอนกัดฟันระดับน้อย เห็นว่าการนอนกัดฟันมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันไม่มากนักและไม่ค่อยสนใจติดตามข่าวสารเรื่องการนอนกัดฟัน