Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาพัฒนาการตั้งแต่อดีต ถึง ปัจจุบันของพื้นที่ศึกษา 2) เพื่อวิเคราะห์อิทธิพลเด่นที่มีต่อการเติบโตของพื้นที่ศึกษา 3) วิเคราะห์สภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขของพื้นที่ศึกษา 4) เสนอแนวทางการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ศึกษา โดยขั้นตอนในการศึกษาใช้วิธีการเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่จากภาพถ่ายทางอากาศในแต่ละช่วงปี และใช้แบบสอบถามในการวิเคราะห์พฤติกรรมและความคิดเห็นของประชาชน กลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่ชุมชนสวนดอกและชุมชนหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ นักศึกษา บุคลากร ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ และผู้ประกอบการ เพื่อให้เห็นถึงการให้บริการของพื้นที่ชุมชนสวนดอกและชุมชนหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลการศึกษาพบว่า พัฒนาการของชุมชนสวนดอกและชุมชนหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้น พื้นที่มีการขยายตัวทางกายภาพตามการขยายการศึกษา และการขยายตัวของพื้นที่สิ่งปลูกสร้างของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรกชุมชนกระจายตัวอยู่บริเวณตอนต้นของถนนสุเทพ โดยมีโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ตั้งอยู่ ซึ่งเป็นแรงดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาอยู่ในพื้นที่ ช่วงที่สอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขยายการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งได้จัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์ขึ้นมา โดยพื้นที่ตั้งของแต่ละคณะอยู่ถัดมาทางด้านตะวันตกของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ส่งผลให้พื้นที่ชุมชนเกิดการขยายตัวออกมายังช่วงกลางของถนนสุเทพ ทำให้เกิดที่พักอาศัยและร้านค้าเป็นจำนวนมากขึ้น และเริ่มมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยอย่างกระจัดกระจายบริเวณปลายถนนสุเทพด้วยเช่นกัน
ช่วงที่สามเมื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ขยายพื้นที่สิ่งปลูกสร้างของมหาวิทยาลัยมายังพื้นที่ส่วนหลัง ไปจนติดกับถนนสุเทพ พื้นที่ชุมชนจึงได้ขยายออกมาทางตอนปลายของถนนสุเทพ เกิดเป็นย่านพักอาศัยสำหรับนักศึกษาและบุคคลที่เข้ามาทำงานยังพื้นที่บริเวณนี้ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลให้เกิดตลาดสด และการขยายเส้นทางคมนาคมของถนนสุเทพ เพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชนสวนดอกและชุมชนหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากพัฒนาการของพื้นที่ทำให้เห็นถึงอิทธิพลของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นอิทธิพลเด่นที่ทำให้พื้นที่ชุมชนสวนดอกและชุมชนหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกิดการเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลให้เกิดปัญหาทางด้านต่างๆ ตามมา ได้แก่
ปัญหาทางด้านกายภาพที่ส่งผลต่อนักศึกษาคือความไม่เพียงพอของระบบสาธารณูปโภค ส่วนปัญหาทางด้านสังคมคือ เกิดแหล่งมั่วสุมของนักศึกษาบางกลุ่ม และปัญหาอาชญากรรม แนวทางในการพัฒนาชุมชนสวนดอกและชุมชนหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาจากการกำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนา ให้เป็นชุมชนเมืองมหาวิทยาลัยที่พร้อมด้วยบริการครบครันและสมบูรณ์แบบ ทั้งด้านที่พักอาศัยและการบริการทางสังคม ที่สนับสนุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสอดคล้องกับเอกลักษณ์ของภาคเหนือ ประกอบด้วย แนวทางการพัฒนาทางด้านกายภาพ อันได้แก่การจัดการพื้นที่ โดยใช้มาตรการทางผังเมืองในการกำหนดรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินของย่านการค้าและที่พักอาศัย ให้เกิดขึ้นในแนวดิ่งโดยมีการควบคุมความสูงของอาคาร การจัดการระบบคมนาคมขนส่ง โดยสนับสนุนให้เส้นทางในชุมชนมีทางเท้าและทางจักรยานสำหรับการสัญจรในชุมชน ส่วนเส้นทางหลักระหว่างชุมชนเน้นการใช้บริการขนส่งสาธารณะเพื่อลดความคับคั่ง และเพิ่มความปลอดภัยให้กับคนในชุมชน สำหรับการจัดการระบบสาธารณูปโภคให้เป็นการใช้ระบบท่อรวมซึ่งง่ายต่อการจัดการ แนวทางในการพัฒนาทางด้านสังคมโดยการส่งเสริมคนในชุมชนให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่อย่างเหมาะสมที่สอดคล้องกับเอกลักษณ์ของชุมชนที่ให้บริการตอบสนองกับมหาวิทยาลัย