Abstract:
โครงการที่ 1 ศึกษาผลของสิ่งกระตุ้นด้วยแสง เสียงและสั่นในระหว่างเดินในผู้ป่วยพาร์กินสัน อุปกรณ์ช่วยนำทางในการเดินได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในการศึกษาครั้งนี้ อุปกรณ์นี้ประกอบไปด้วยสามส่วนหลักได้แก่ ส่วนของแสง เสียง และสั่น ส่วนของแสงที่ใช้เป็นสิ่งกระตุ้นทางสายตา เมื่อกดสวิตซ์จะมีแสงในแนวนอนฉายไปพื้น โดยแสงที่เป็นเส้นเกิดจากเส้นใยนำแสง ส่วนของเสียงและสั่นที่ใช้เป็นสิ่งกระตุ้นทางการได้ยินและทางสัมผัสจะทำงานเป็นจังหวะที่ 100 ครั้งต่อนาที ผู้ป่วยพาร์กินสันจำนวน 17 คนและผู้สูงวัยสุขภาพดี 17 คน ได้เข้าร่วมในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ผู้ป่วยจะเดินด้วยความเร็วปกติบนทางเดินยาว 10 เมตร โดยทดสอบ 8 เงื่อนไขด้วยกัน ได้แก่ เดินโดยไม่ใช้สิ่งกระตุ้น เดินโดยใช้สิ่งกระตุ้นแสง เดินโดยใช้สิ่งกระตุ้นเสียง เดินโดยใช้สิ่งกระตุ้นสั่น เดินโดยใช้สิ่งกระตุ้นแสงและเสียงร่วมกัน เดินโดยใช้สิ่งกระตุ้นแสงและสั่นร่วมกัน เดินโดยใช้สิ่งกระตุ้นเสียงและสั่นร่วมกัน และเดินโดยใช้สิ่งกระตุ้นแสง เสียงและสั่นพร้อมกันหมด การศึกษาครั้งนี้จะใช้เครื่อง RS footscan เก็บข้อมูลพารามิเตอร์ในการเดินต่างๆ เช่น ความเร็วในการเดิน ระยะก้าวในการเดิน จำนวนก้าวในการเดิน และช่วงเวลาที่เท้าทั้งสองแตะพื้นพร้อมกันในระหว่างเดิน ผลการศึกษาพบว่า สิ่งกระตุ้นทั้งสามอย่างที่ทดสอบไป 7 เงื่อนไข เมื่อเปรียบเทียบกับการเดินโดยไม่ใช้สิ่งกระตุ้นแล้ว ความเร็วในการเดิน ระยะการก้าวเดิน จำนวนก้าวในการเดิน เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) ช่วงเวลาที่เท้าทั้งสองแตะพื้นพร้อมกันลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) ด้วยเช่นกัน โดยผู้ป่วยมีการเดินที่ดีขึ้นกว่าผู้สูงวัย สรุปผลการศึกษาครั้งนี้พบว่า สิ่งกระตุ้นสามารถช่วยทำให้ผู้ป่วยพาร์กินสันและผู้สูงวัยสุขภาพดีเดินได้ดีขึ้น. โครงการที่ 2 ศึกษาหาค่าปกติของตัวแปรต่างๆ ที่ใช้ในการวิเคราะห์การเดินและการทรงตัวในผู้สูงวัย ได้วิเคราะห์การเดินในผู้สูงวัยสุขภาพดี อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปจำนวน 200 ราย (อายุ 71.07 +- 4.87 ปี BMI 24.14 +- 3.17 kg/sq. m) หญิง 100 ราย (อายุ 70.44 +- 4.00 ปี BMI 24.03 +- 3.27 kg/sq. m) ชาย 100 ราย (อายุ 72.27 +- 6.06 ปี BMI 24.37 +- 2.99 kg/sq. m) ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างเพศหญิงและเพศชายและข้างซ้ายและข้างขวาในทุกพารามิเตอร์ของข้อมูลพื้นฐาน และไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างเพศหญิงและเพศชาย ข้างขวาและข้างซ้ายในทุกพารามิเตอร์ของ spatial and temporal gait measurement วัดโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ (RS scan) ได้แก่ stride length, step length, step width, foot angle, cadence, step rate, stride time, step time and walking speed ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ p < 0.05 จึงนำค่าทุกพารามิเตอร์ของทั้งสองเพศมาหาค่าเฉลี่ย ดังนี้ stride length 91.60 +- 6.23 cm, step length 49.18 +- 6.82 cm, step with 9.18 +- 3.04 cm, foot angle 13.39 +- 3.45 cm, cadence 112.05 +- 24.32/min, walking speed 1.68 +- 0.25 m/sec และไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างเพศหญิงและเพศชายในทุกการทดสอบการทรงตัว ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ p < 0.05 จึงนำค่าทุกพารามิเตอร์ของการทดสอบการทรงตัวทุกแบบของทั้งสองเพศมาหาค่าเฉลี่ยดังนี้ Timed single leg stance (ลืมตา) 22.89 +- 2.57 (18.9-29.9) Timed single leg stance (หลับตา) 10.03 +- 2.43 (9.8-11.9) Berg balance scale 50.79 +- 3.571 (44-55) Functional reach test 26.89 +- 1.55 (24-39.5) Timed up & go test; TUG 8.9 +- 2.22 (5.71-10.16) Tinetti’s Performance-Oriented Mobility Assessment (POMA) 25.8 +- .395 (24-28) Dynamic gait index 20.59 +- 2.657 (19-24) ซึ่งค่าปกติที่ได้นี้จะนำไปใช้ในการดูแลรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยสูงวัยได้ต่อไป