Abstract:
ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นภาคธุรกิจที่ใหญ่มากในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาแล้วเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และประเทศญี่ปุ่น ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมเนื่องจากเป็นระบบธุรกิจที่มีประสิทธิภาพสูง กล่าวคือ ทำให้ผู้ให้อนุญาตสามารถขยายเครือข่ายธุรกิจแฟรนไชส์ของตนได้อย่างรวดเร็วมาก โดยไม่ต้องใช้เงินจำนวนมากในการขยายเครือข่าย และผู้ได้รับอนุญาตเองก็ได้รับประโยชน์จากการที่สามารถเข้าสู่ตลาดจัดกระจายสินค้าและบริการ ในฐานะนักลงทุนและผู้ประกอบการโดยง่ายและโอกาสที่ธุรกิจจะล้มเหลวก็ต่ำลง เนื่องจากในระบบธุรกิจแฟรนไชส์ผู้ให้อำนาจจะมีอำนาจตลาด หรืออำนาจต่อรองเหนือกว่าผู้รับอนุญาต จึงมีแนวโน้มสูงที่ผู้ให้อนุญาตจะใช้อำนาจดังกล่าวโดยไม่ชอบธรรมโดยการเขียนข้อสัญญาที่มีลักษณะจำกัดการแข่งขัน หรือข้อสัญญาจำกัดไม่ให้ผู้รับอนุญาตประกอบธุรกิจแข่งกับตนลงในสัญญาแฟรนไชส์ และบังคับให้ผู้รับอนุญาตต้องรับข้อสัญญาดังกล่าว ในสหภาพยุโรป ประเทศเยอรมนี ประเทศฝรั่งเศส ประเทศญี่ปุ่นและประเทศเกาหลีใต้ ข้อสัญญาจำกัดการแข่งขัน และข้อสัญญาจำกัดการแข่งขันของผู้รับอนุญาต จะตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแข่งขันทางการค้า ในประเทศสหรัฐอเมริกาจะตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย Sherman กฎหมาย Clayton กฎหมาย Fair Trade Commission ส่วนข้อสัญญาจำกัดการแข่งขันของผู้รับอนุญาตจะตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายสัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่เกิดจากคำพิพากษาของศาลยุติธรรม ในประเทศอังกฤษ ข้อสัญญาจำกัดการแข่งขันของผู้รับอนุญาตจะตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายสัญญา ในแง่มุมมองของการกำกับดูแลธุรกิจแฟรนไชส์แล้ว ประเทศไทยเกิดตามแนวของประเทศอังกฤษ โดยการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 ซึ่งมีผลทำให้ข้อสัญญาจำกัดการแข่งขันและข้อสัญญาจำกัดการแข่งขันของผู้ให้อนุญาตตกอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 และตามบทบัญญัติมาตรา 150 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ศาลไทยต้องพิจารณาก่อนว่าข้อสัญญาจำกัดการแข่งขัน หรือข้อสัญญาจำกัดการแข่งขันของผู้รับอนุญาตในสัญญาแฟรนไชส์ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ หากไม่ขัด ศาลจึงมีอำนาจที่จะปรับลดระดับความไม่เป็นธรรมของข้อสัญญานั้น ให้อยู่ในระดับที่เป็นธรรมแก่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้ หากพิจารณาแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้วจะเห็นได้ว่า ศาลฎีกาไม่เคยตัดสินให้ข้อสัญญาจำกัดการแข่งขันของลูกจ้างตกเป็นโมฆะเลย ในทางตรงกันข้ามศาลฎีกาตัดสินว่าข้อสัญญาจำกัดการแข่งขันเป็นข้อสัญญาที่มีผลใช้บังคับได้ ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 5 จะทำให้ศาลไทยมีทั้งอำนาจและความยืดหยุ่นที่จะปรับเปลี่ยนข้อสัญญาจำกัดการแข่งขันของผู้รับอนุญาตให้สะท้อนดุลยภาพที่เป็นธรรมของผลประโยชน์ของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้เหมาะสมและยุติธรรมขึ้นอย่างแน่นอน