Abstract:
บันทึกของสตรีผู้รอดชีวิตจากการล้างเผ่าพันธุ์ในยุโรประหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นวรรณคดีในรูปแบบของเรื่องเล่าที่ถ่ายทอดเรื่องราวของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อปฏิบัติการอันโหดเหี้ยมของนาซีตามนโยบายของฮิตเลอร์ ผู้เล่าใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งบอกกล่าวความทรงจำเฉพาะตัวและประสบการณ์ร่วมของบรรดาผู้ที่มีชะตากรรมเดียวกัน โครงเรื่องของเรื่องเล่าในรูปแบบอัตชีวประวัตินี้ส่วนใหญ่จะเหมือนกันคือแบ่งได้เป็นสามช่วง ช่วงแรกตั้งแต่เปิดเรื่องเป็นการให้ภูมิหลังของตัวผู้เล่า ช่วงที่สองคือช่วงชีวิตก่อนการเข้ามารุกรานของนาซีซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข และช่วงที่สามคือช่วงที่ผู้เล่าเป็นเหยื่อของอคติชาติพันธุ์สูญสิ้นอิสรภาพตกเป็นเชลยของนาซี จนกระทั่งได้รับการปลดปล่อยให้กลับไปดำเนินชีวิตเยี่ยงอิสรชนอีกครั้งหนึ่ง ช่วงที่สามนี้มีเนื้อหาเป็นปริมาณถึงสองในสามของเนื้อหาทั้งหมด และทำให้ผู้อ่านได้รู้จักกับกระบวนการล้างเผ่าพันธุ์ในทุกขั้นตอนและทุกแง่มุม บันทึกความทรงจำของสตรีผู้รอดชีวิตเหล่านี้ยังได้ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับประเด็นทางจริยธรรมตามมา กล่าวคือ พวกเธอผู้ผ่านเหตุการณ์อันเลวร้ายอย่างถึงที่สุดมาแล้วยังสามารถให้อภัยฆาตกรผู้คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปถึงหกล้านคนได้หรือไม่ ผลของการวิจัยปรากฏว่า ส่วนใหญ่มีความคิดในทำนองเดียวกันคือ ไม่สามารถลืมความอำมหิตที่พวกเธอได้เป็นพยานรู้เห็นมาแล้วได้ และพวกเธอจะถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ให้อนุชนรุ่นหลังได้รับรู้เพื่อมิให้เหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษย์เกิดขึ้นได้อีก ด้วยความเข้มแข็งไม่ยอมแพ้ต่อความยุติธรรมและยืนหยัดที่จะมีชีวิตรอดจึงน่าจะกล่าวได้ว่า วรรณคดีประจักษ์พยานคือวรรณคดีที่แสดงความกล้าหาญและธาตุแท้ของมนุษยชาติ
Description:
เรื่องเล่าในรูปอัตชีวประวัติ: ภูมิหลังของครอบครัว ; ช่วงชีวิตก่อนการรุกรานของนาซี ; เหยื่อของอคติชาติพันธุ์ -- บันทึกกระบวนการล้างเผาพันธุ์: การกวาดล้าง ; การขนย้ายเชลย ; ค่ายกักกัน -- บันทึกชะตากรรมของสตรีหัวใจแกร่ง -- สารจากวรรณคดีประจักษ์พยาน: กลศิลป์ที่ใช้ในการส่งสาร ; การบรรยาย ; กวีนิพนธ์ ; การให้อภัยหรื่อไม่ให้อภัย