Abstract:
การวิจัยในครั้งนี้เพื่อศึกษาข้อมูลด้านสังคม, เศรษฐกิจ, ลักษณะการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ และศึกษาการเตรียมกาด้านที่อยู่อาศัยในอนาคตของผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยในอาคารชุดของเคหะชุมชน เนื่องจากที่อยู่อาศัยในรูปแบบนี้น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุมากกว่ารูปแบบอื่น ๆ และด้วยผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย จึงมีข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน โดยเลือกศึกษาเคหะชุมชนที่มีจำนวนหน่วยอาศัยที่มากที่สุดจาก 4 มุมเมืองของกรุงเทพมหานคร คือ เคหะชุมชนร่มเกล้า เคหะชุมชนดินแดง 2 เคหะชุมชนธนบุรี และเคหะชุมชนทุ่งสองห้อง โดยเครื่องมือในการวิจัยครั้งนี้คือแบบสอบถาม จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 389 คน ผลการศึกษาสภาพสังคม เศรษฐกิจ และสภาพการอยู่อาศัย พบว่า เกือบ 2 ใน 3 จะเป็นเพศหญิง ช่วงอายุส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 55-59 ปี สถานสภาพสมรสและมีบุตร มีสมาชิกในครอบครัวประมาณ 3-4 คนมี ส่วนผลสำเร็จทางด้านระดับการศึกษาของกลุ่มตัวอย่างปรากฎว่าการศึกษาไม่ค่อยสูงนัก จบระดับประถมศึกษาเท่านั้น รายได้เฉลี่ยต่อครอบครัวจะอยู่ประมาณ 14,501-20,000 บาท สำหรับการครอบครองที่อยู่อาศัยของกลุ่มตัวอย่างปรากฎว่าส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะการเช่าซื้อ ส่วนใหญ่จะอยู่อาศัยมาประมาณ 11-20 ปี
และปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหามากที่สุดสำหรับกลุ่มตัวอย่าง ส่วนทางด้านความคิดเห็นในการย้ายที่อยู่อาศัยนั้น พบว่าส่วนใหญ่ไม่เคยคิดที่ย้าย ผลการศึกษาการเตรียมการด้านที่อยู่อาศัย พบว่า การเตรียมการด้านที่อยู่อาศัยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มเตรียมและกลุ่มที่ไม่มีการเตรียมการด้านที่อยู่อาศัย โดยเกือบ 2 ใน 3 ไม่มีการเตรียมการ เนื่องจากเหตุผลเรื่องรายได้และกรรมสิทธิ์ที่อยู่ที่เป็นของตนเอง และร้อยละ 66.4 ของกลุ่มที่เตรียม วางแผนที่จะปรับปรุงโดยส่วนใหญ่จะปรับปรุงให้ภายในห้องดูใหม่ขึ้น เช่น ทาสี ส่วนกลุ่มเตรียมที่ต้องการย้ายไปอยู่ที่อื่น ได้แก่ สร้างบ้านใหม่บนที่ดินที่มีอยู่แล้ว กำลังผ่อนอยู่ และกำลังหาซื้อ ตามลำดับ โดยมีงบประมาณอยู่ในช่วง 500,000-2,000.000 บาท ทำเลที่ต้องการคือกรุงเทพชั้นนอก และปัจจัยที่ใช้ในการเลือกที่อยู่อาศัย คือ ใกล้สิ่งอำนวยความสะดวก, ราคาเหมาะสม, ความปลอดภัยในชีวิต/ทรัพย์สิน, สภาพแวดล้อมที่ดีและอยู่ใกล้ลูกหลาน ตามลำดับ เนื่องจากการวิจัยครั้งนี้ มีกลุ่มที่เตรียมการน้อย ดังนั้นจึงเสนอว่ารัฐควรให้ความสำคัญกับบ้านหลังแรกที่สามารถอยู่ได้จนถึงวัยสูงอายุ ส่วนการเคหะแห่งชาติควรให้โอกาสผุ้ที่มีปัญหาการขึ้นลงบันไดย้ายห้องพักลงมาอยู่ชั้นล่าง หรืออนุญาตให้ปรับสิ่งแวดล้อมภายนอกให้เหมาะสมได้ ส่วนโครงการจัดสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุควรที่จะสร้างที่อยู่แบบบ้านเดี่ยวชั้นเดียว และควรมีสถานบริการด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแล เช่น ศูนย์ดูแลสุขภาพ