Abstract:
บทความเรื่องนี้ศึกษาวิเคราะห์พฤติกรรมรักร่วมเพศชายในสังคมไทยว่ามีลักษณะเป็นเช่นไร จากการศึกษาพบว่าในสมัยจารีต แม้ว่าสังคมจะมีอคติต่อพฤติกรรมรักร่วมเพศในลักษณะที่ “เป็นความแปลกแยก” มิใช่ “หญิง” หรือ “ชาย” แต่ก็ไม่ปรากฏความคิดว่าพฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นอันตรายต่อสังคมและไม่มีบทลงโทษอย่างรุนแรงดังเช่นในสังคมตะวันตก หลังสงครามโลก ครั้งที่สอง บริบททางด้านเศรษฐกิจและสังคมได้เปลี่ยนไป กล่าวคือการรับวัฒนธรรมอเมริกันทำให้มีการรับความรู้ทางการแพทย์แบบตะวันตกที่มองว่า พฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นโรคจิตที่สามารถบำบัดรักษาให้หายได้ ในช่วงปลายทศวรรษ 2500 มีการหยิบยืมเอาคำว่า “เกย์” มาใช้เรียกคนกลุ่มนี้ ปลายทศวรรษ 2510 คนกลุ่มนี้ได้พยายามอาศัย “พื้นที่” ในหนังสือพิมพ์ เพื่อทำให้สังคมยอมรับ อย่างไรก็ตามสังคมได้หยิบประเด็นเรื่องอาชญากรรมกับเกย์ ว่าเป็นปัญหาสังคม ปลายทศวรรษ 2520 มีนิตยสารที่ให้ “พื้นที่” กับคนกลุ่มนี้นั่นคือนิตยสารที่ทำเพื่อเกย์โดยเฉพาะ นิตยสารเกย์พยายามชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นสิ่งปกติและ “เกย์” สามารถทำประโยชน์ให้สังคมได้เช่นเดียวกับหญิงและชาย แต่สังคมก็หยิบยกเรื่องโรคเอดส์ซึ่งเป็นปัญหาอยู่ในขณะนั้นว่ามีสาเหตุสำคัญจากเกย์ ทศวรรษ 2530 วาทกรรมกระแสหลักผ่อนหลายประเด็นเรื่องเกย์เป็นโรคจิตลง จิตแพทย์บางคนเริ่มยอมรับว่าพฤติกรรมรักร่วมเพศไม่ใช่โรคจิต และไม่ต้องบำบัดรักษา และมิใช่พาหะสำคัญของโรคเอดส์ แต่อย่างไรก็ตามยังชูประเด็นเรื่องเกย์เป็นภัยต่อสังคม ในขณะที่เกย์เริ่มมีที่สาธารณะชั่วครั้งชั่วคราว เห็นได้จากงานบางกอกเกย์ เฟสติวัล กระนั้นก็ตามสังคมก็ยังไม่ยอมรับเกย์โดยสมบูรณ์