Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีการวิจัยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยเก็บข้อมูลภาคสนามด้วยการสัมภาษณ์เด็กและเยาวชนที่เข้ารับการฝึกอบรมในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลาง จำนวน 224 ราย ซึ่งเป็นประชากรทั้งหมด และสัมภาษณ์แบบเจาะลึกครอบครัวของเด็กและเยาวชนกระทำผิด จำแนกตามกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จำนวน 69 ครอบครัว โดยการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวของเด็กและเยาวชนกระทำผิดที่มีสถานภาพเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อยในสังคมไทย ศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยทางครอบครัวของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีผลต่อการกระทำผิด และศึกษาเปรียบเทียบลักษณะการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1) เยาวชนส่วนใหญ่ 47.32% เป็นกลุ่มชาติพันธุ์จีน 19.64% แสดงตนเป็นชาวมุสลิม นอกนั้นจำนวนไม่มากนักเป็นชาติพันธุ์ลาว เขมร ยุโรป (เยอรมันและฝรั่งเศส) เนปาล พม่า มอญ ตามลำดับ และมีกลุ่มที่ผสมผสานหลายชาติพันธุ์ ได้แก่ จีน-มอญ เขมร-มุสลิม ฯลฯ ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งมีรูปร่างลักษณะแตกต่างจากรูปลักษณ์เยาวชนไทยทั่วไป แต่ 85.71% มองตนเองว่าไม่มีความแตกต่างไปจากคนไทยอื่นๆ 2) ครอบครัวของเด็กและเยาวชนกว่าครึ่งหนึ่งเป็นชาว กทม. ตั้งแต่แรกเกิด เป็นครอบครัวเดี่ยวมากกว่าครอบครัวขยาย และส่วนใหญ่มีบิดามารดาคลุกคลีกับอบายมุข มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนหรือยังชีพอยู่ด้วยการประกอบอาชญากรรม 3) พฤติกรรมการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัว พบว่ามีการกำหนดกฎ ระเบียบภายในบ้านที่ไม่สมเหตุสมผล มีสัมพันธภาพทางอารมณ์ค่อนข้างน้อย ระดับจริยธรรมที่ใช้ในการอบรมสั่งสอนคือความถูกผิดขึ้นอยู่กับบิดามารดา ตำรวจหรือผู้มีอำนาจในสังคม บิดามารดาซึ่งเป็นตัวแบบจริยธรรมเคยต้องคดีมาแล้วและบางรายยังต้องโทษจำคุกฐานเสพและจำหน่ายยาเสพติด 4) เยาวชนกว่าครึ่งหนึ่งกระทำผิดซ้ำ 2-5 ครั้ง 74.6% กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและ 21.9% กระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์ โดยกลุ่มชาติพันธุ์จีนจำหน่ายยาบ้ามากที่สุดขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ลาวลักทรัพย์มากที่สุด ซึ่งมีมูลเหตุจูงใจจากอยากทดลองและเพื่อนชักชวน 5) ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกระทำผิดของเยาวชนคือ พฤติกรรมตัวแบบจริยธรรม คดีความผิดของบิดามารดาที่อยู่ระหว่างดำเนินกระบวนพิจารณา ความไม่เหมาะสมในการออกคำสั่งควบคุมดูแล ความเหนียวแน่นในกลุ่มชาติพันธุ์ การที่ครอบครัวเป็นชาว กทม. แต่กำเนิด การมีข้อจำกัดในการเข้าทำงาน การประสบปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติ และการที่ต้องอดทนต่อการตั้งฉายา ล้อเลียน ถากถางจากคนในสังคมไทย