Abstract:
รายงานวิจัยเรื่อง “ความสัมพันธ์ของการเสพสุรากับอาชญากรรม” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงความสัมพันธ์ของการเสพสุรากับการประกอบอาชญากรรมที่เป็นความผิดต่อชีวิตและร่างกายว่าการเสพสุราเป็นปัจจัยหลักหรือปัจจัยรองในการประกอบอาชญากรรม เพื่อศึกษาถึงปัจจัยสำคัญอื่น ๆ ที่มีส่วนสัมพันธ์กับการประกอบอาชญากรรมของผู้ที่เสพสุราในประเภทคดีความผิดต่อชีวิตและร่างกาย และเพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเสพสุรา โดยในการวิจัยเรื่องนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณควบคู่กับการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่ายจากผู้ต้องขังที่ต้องโทษในคดีความผิดต่อชีวิตและร่างกายที่ต้องโทษจำคุกในเรือนจำและทัณฑสถานในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 แห่ง จำนวน 880 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ไคว์สแควร์ สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน และ t-test ผลการศึกษาพบว่า การเสพสุรามีความสัมพันธ์กับอาชญากรรม โดยเป็นปัจจัยหลักในการประกอบอาชญากรรมเกี่ยวกับความผิดต่อชีวิตและร่างกายของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นวัยรุ่น ซึ่งมีอายุไม่เกิน 25 ปี เนื่องจากการเสพสุรานำไปสู่การประกอบอาชญากรรมโดยตรง โดยกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบอาชญากรรมจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งมีการเสพสุราก่อนการกระทำผิด จนกระทั่งทำให้เกิดปัญหาในการควบคุมสติหรือการยับยั้งชั่งใจในการกระทำผิด การเสพสุราเพื่อย้อมใจทำให้มีความใจกล้าในการกระทำผิด ไม่มีความเกรงกลัวต่อโทษที่จะได้รับ เมื่อประสบกับโอกาสหรือสถานการณ์ที่มีส่วนกระตุ้นจึงเกิดการประกอบอาชญากรรม โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ประกอบอาชญากรรมภายหลังจากที่เสพสุราประเภทเบียร์ไทย รองลงไป คือ เหล้าขาว ปริมาณตั้งแต่ 1 ขวดขึ้นไป เป็นระยะเวลาไม่เกิน 5 ชั่วโมง และมีการประกอบอาชญากรรมโดยใช้อาวุธ คือ มีด ดาบ ของมีคม และปืน ในสถานที่ที่กำลังเสพสุราหรือไม่ห่างไกลจากสถานที่ในการเสพสุรา ทำให้ผู้เสียหายส่วนใหญ่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บสาหัส ความสัมพันธ์ของการเสพสุราและการประกอบอาชญากรรม เป็นความสัมพันธ์ที่มีความสลับซับซ้อนขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ที่มีส่วนสัมพันธ์กับการประกอบอาชญากรรม โดยผู้ที่มีปัจจัยพื้นฐานทางสังคมที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการขัดเกลาทางสังคมจนทำให้มีบุคลิกภาพอ่อนแอง่ายต่อการถูกกระตุ้น เมื่อเสพสุราและถูกกระตุ้นจากปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยรองก็จะถูกผลักดันไปสู่การกระทำผิด หรือนำไปสู่การประกอบอาชญากรรมได้ง่าย ในขณะเดียวกันการเสพสุรายังทำให้ผู้เสพมีโอกาสในการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม จากผลการทดสอบสมมติฐานทางสถิติ ณ ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05ปรากฏว่า ยอมรับสมมติฐานในประเด็นที่ว่า ผู้ประกอบอาชญากรรมเกี่ยวกับความผิดต่อชีวิตและร่างกายมีการเสพสุราเป็นประจำสม่ำเสมอมากกว่าการเสพสุรานาน ๆ ครั้ง มีการเสพสุราก่อนการกระทำผิดมากกว่าไม่ได้เสพสุราก่อนกระทำผิด มีการเสพสุราราคาถูกมากกว่าสุราราคาแพง มีความง่ายหรือสะดวกในการซื้อสุราเพื่อเสพมากกว่าความไม่สะดวกในการซื้อสุราเพื่อเสพ แต่ปฏิเสธสมมติฐานในประเด็นที่ว่า ผู้ประกอบอาชญากรรมเกี่ยวกับความผิดต่อชีวิตและร่างกายถูกตีตราจากสังคมว่าเป็นคนขี้เหล้าหรือเป็นคนไม่ดีมากกว่าการไม่ถูกสังคมตีตรา การวิจัยได้เสนอแนะให้มีการประชาสัมพันธ์ให้คนในสังคมไทยได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเสพสุรา การควบคุมการผลิตและจำหน่ายสุรา การควบคุมการขายสุราในช่วงเทศกาลต่าง ๆ การควบคุมการโฆษณาหรือสื่อที่เกี่ยวข้องในการนำเสนอเกี่ยวกับการเสพสุรา การสร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัว การเลือกคบเพื่อน การใช้ชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการเสพสุรา ตลอดจนการเลิกดื่มสุราหรือเกี่ยวข้องกับสุราให้น้อยที่สุด การกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างการเสพสุรากับอาชญากรรม โดยการกำหนดบทลงโทษที่มีความรุนแรงขึ้นสำหรับผู้ประกอบอาชญากรรมที่มีการเสพสุราก่อนกระทำผิด การบำบัดผู้เสพสุราอย่างจริงจัง และการประชาสัมพันธ์ให้คนในสังคมได้รับทราบถึงโทษจากการเกี่ยวข้องกับสุรา