Abstract:
ศึกษาถึงความเป็นมาของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และศึกษาถึงผลกระทบจากนโยบายกองทุนฯ ในพื้นที่กรณีศึกษาตำบลนครปฐม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ที่มีต่อกลุ่มผลประโยชน์และประชาชน มีวิธีการศึกษาคือ การค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงอินเตอร์เน็ท และมีการสัมภาษณ์เชิงลึกสมาชิกกองทุนจำนวน 16 ราย และประธานกองทุน 8 หมู่บ้าน ผลการศึกษาผลกระทบที่เกิดจากกองทุนฯ ในพื้นที่กรณีศึกษาพบว่า ด้านเศรษฐกิจ สมาชิกกองทุนฯ ได้รับผลประโยชน์จากเงินกู้ สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาผลผลิต ก่อให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน การสร้างมูลค่าเพิ่ม และนำไปสู่การเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดของเศรษฐกิจระบบทุนนิยม ด้านสังคม กองทุนหมู่บ้านฯ เป็นจุดรวมของชุมชนในหมู่บ้านที่มาร่วมแรงร่วมใจกันในการร่วมคิด ร่วมทำกิจการ ร่วมตัดสินใจ ถือเป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนทำให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในการทำกิจกรรมเพิ่มผลผลิต การสืบสานภูมิปัญญาและประเพณีท้องถิ่น สร้างความรักความสามัคคีทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ด้านการเมือง เกิดปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างพรรคการเมือง นักการเมืองระดับชาติ นักการเมืองท้องถิ่นกับประชาชนในชุมชนและหมู่บ้าน โดยการใช้นโยบายกองทุนหมู่บ้านฯ ครอบงำปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อสร้างอำนาจทางการเมือง ส่งผลให้การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 6 ม.ค. 2544 นักการเมืองจังหวัดนครปฐมสังกัดพรรคไทยรักไทย ที่เป็นเจ้าของนโยบายกองทุนหมู่บ้านฯ ชนะการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบทั้ง 5 เขต