Abstract:
ศึกษาแนวทางในการสร้างความสมานฉันท์ของคดีจราจรในทุกๆ ด้าน ได้แก่ ผู้กระทำผิด ผู้เสียหาย พนักงานสอบสวนและสังคม และวิธีการจัดการความขัดแย้งเชิงสมานฉันท์ของพนักงานสอบสวน ในการเจรจาต่อรองค่าเสียหายให้คู่กรณีจราจรทางบก โดยเก็บรวบรวมข้อมูลและประมวลผลอย่างเป็นระบบ โดยใช้เทคนิคการวิจัยเชิงคุณภาพ ได้แก่การเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร (documentary research) โดยศึกษาจากงานวิจัย หนังสือ สำนวนการสอบสวน และเอกสารที่เกี่ยวข้อง และการวิจัยภาคสนาม (field research) โดยใช้วิธีการสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วม (non-participant observation) และการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (in-depth interview) ซึ่งศึกษาจากคดีจราจรที่มีลักษณะแตกต่างกันตามประเภทของคดีในพื้นที่ศึกษา โดยศึกษากลุ่มตัวอย่าง 3 กลุ่ม ในแต่ละคดี ได้แก่ กลุ่มพนักงานสอบสวน กลุ่มที่เป็นฝ่ายผู้ต้องหา และกลุ่มที่เป็นฝ่ายผู้เสียหาย ผลการวิจัยพบว่า คดีจราจรเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษ โดยวิธีการจัดการความขัดแย้งของพนักงานสอบสวนคดีจราจร มีการใช้รูปแบบลักษณะต่างๆ คือ 1. การให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายตกลงกันเอง 2. การให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายตกลงกันเอง โดยมีคนกลางซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวนเป็นผู้ไกล่เกลี่ย 3. การที่พนักงานสอบสวนจัดให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายตกลงกัน โดยมีคนกลางที่มิใช่พนักงานสอบสวนเป็นผู้ไกล่เกลี่ย 4. การที่พนักงานสอบสวนจัดให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายตกลงกัน โดยมีคนกลางที่มิใช่พนักงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนเป็นผู้ไกล่เกลี่ย 5. การจัดให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายตกลงกัน โดยพนักงานสอบสวนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยและชี้ขาด