Abstract:
ปลานิล (Oreochromis nilotica) จัดเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ สามารถเลี้ยงได้ทุกสภาพภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย ผลผลิตปลานิลเป็นที่นิยมบริโภคภายในประเทศ และมีมูลค่าการส่งออกสูงสุดของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจืดของประเทศไทย การพัฒนาระบบการเลี้ยงปลานิลเพื่อเพิ่มผลผลิตและเลี้ยงหนาแน่น ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือการระบาดของโรค เชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสเป็นสาเหตุโรครุนแรงในปลานิล และมีรายการการสูญเสียทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมการผลิตปลานิลทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย การศึกษานี้เป็นการศึกษาลักษณะของการเกิดโรคและความไวรับต่อยาต้านจุลชีพ ของเชื้อสเตรปโตคอคคัสในปลานิลเพาะเลี้ยง ปลานิลป่วยหรือตายจากอาการสันนิษฐานว่าเกิดการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสจำนวน 60 รายงานการเกิดโรคจาก 9 จังหวัด นำมาศึกษาลักษณะของการเกิดโรคโดยการชันสูตรซาก แยกเชื้อสเตรปโตคอคคัสเพื่อทดสอบความไวรับต่อยาต้านจุลชีพ amoxicillin, oxytetracycline, sulfadiazine/trimethoprim และ sulfadimethoxine/ormetoprim จำแนกชนิดของเชื้อแบคทีเรียจากคุณสมบัติทางชีวเคมีด้วยชุดทดสอบ API และยืนยันชนิดของเชื้อทางชีวโมเลกุลด้วยวิธี PCR การศึกษารอยโรคของปลานิลป่วยด้วยโรคสเตรปโตคอคโคซิสพบลักษณะผิดปกติ ได้แก่ จุดเลือดออกที่อวัยวะภายใน ของเหลวสีน้ำเลือดในช่องท้อง ตับ ไต และม้ามมีขนาดใหญ่ ลักษณะโคโลนีของเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสเป็นจุดสีขาวและพบการแตกตัว ของเม็ดเลือดแดงในอาหารเลี้ยงเชื้อบริเวณรอบโคโลนี เชื้อติดสีแกรมบวก เซลล์กลมเรียงต่อกันเป็นสายไม่สร้างเอนไซม์คะตาเลส การทดสอบความไวรับของเชื้อต่อยาต้านจุลชีพโดย agar dilution technique แสดงความไวรับของเชื้อต่อยานต้านจุลชีพทั้ง 4 ชนิด การจำแนกเชื้อสเตรปโตคอคคัสด้วยคุณสมบัติทางชีวเคมีด้วยชุดทดสอบ API จำนวน 60 รายงานการเกิดโรค พบเป็น Streptococcus agalactiae 47 ราย (81.67%) S. dys.ssp.equisimilis 4 ราย (6.67%) S. porcinus 8 ราย (13.33%) และ S. constellatus 1 ราย (1.67%) ผลการยืนยันชนิดเชื้อด้วยวิธี PCR โดยใช้ primer จาก sequence ใน 16sRNA gene สำหรับตรวจระบุชนิดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสจำนวน 3 คู่ คือ primer C1, 5'-GCG TGC CTA ATA CAT GCA A-3' และ C2, 5'-TAC AAC GCA GGT CCA TCT-3'; primer F1, 5'-GAG TTT GAT CAT GGC TCA G-3' และ IMOD, 5'-ACC AAC ATG TGT TAA TTA CTC-3'; Primer Sin-1, 5'-CTA GAG TAC ACA TGT ACT AAG-3' และ Sin-2, 5'-GGA TTT TCC ACT CCC ATT AC-3' การตรวจระบุชนิดของเชื้อสเตรปโตคอคคัสโดยวิธีทางชีวโมเลกุล แสดงผลต่างจากการจำแนกเชื้อด้วยคุณสมบัติทางชีวเคมี คือการตรวจระบุเชื้อโดยวิธี PCR พบ S. agalactiae 53 ราย (83.33%) และ S. iniae 7 ราย (11.64%)