Abstract:
Ochratoxin A (OTA) เป็นสารพิษจากเชื้อราที่ได้จากขบวนการเมตาบอลิสมของเชื้อรา Aspergillus ochraceus และ Penicillium verrucosum สารพิษนี้สามารถปนเปื้อนได้ในเมล็ดธัญพืช ผลองุ่นแห้ง เมล็ดกาแฟ และตกค้างในเนื้อเยื่อสัตว์ นอกจากนี้ยังมีความเป็นพิษที่ร้ายแรงต่อเนื้อเยื่อไตของคนและสัตว์ เมื่อปี 2547 เกิดโรคไตในสุนัขเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าปกติที่ประเทศไต้หวันและไทย จากประวัติสุนัขกลุ่มนี้กินอาหารสำเร็จรูปชนิดเม็ดที่ผลิตจากโรงงานอาหารสัตว์แห่งหนึ่งในประเทศไทย และมีรายงานการตรวจพบสารพิษ OTA และ citrinin ในวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารเม็ดสำเร็จรูป จึงตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่า สารพิษ OTA และ citrinin อาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไต อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฎหลักฐานการตรวจพบสารพิษดังกล่าวในอาหารสำเร็จรูปในชุดที่ให้สุนัขป่วยกลุ่มดังกล่าวกิน และในช่วงเวลานั้นหน่วยพยาธิวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ติดตามเก็บตัวอย่างไตจากสุนัขที่ป่วยตายด้วยโรคไตวายเรื้อรัง มีประวัติการกินอาหารสำเร็จรูปเพื่อนำมาศึกษาลักษณะรอยโรคทางพยาธิวิทยา และปัจจุบันมีการพัฒนาวิธีการตรวจหาระดับการตกค้างของ OTA ในไตของสุกรด้วยเทคนิค HPLC ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่จะนำเทคนิค HPLC ดังกล่าวมาตรวจหาระดับการตกค้างของ OTA ในไตของสุนัขและศึกษาพยาธิสภาพของไตเพื่อเป็นการยืนยันการได้รับสัมผัส OTA การศึกษานี้เก็บตัวอย่างไตจากสุนัขที่ป่วยตายด้วยโรคไตวายเรื้อรังจำนวน 50 ตัวและแบ่งเนื้อไตดังกล่าวออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกนำไปศึกษาตามกระบวนการทางพยาธิวิทยา ส่วนที่สองนำไปตรวจหาระดับการตกค้างของสารพิษ OTA จากนั้นวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการตกค้างกับพยาธิสภาพที่เกิดขึ้น
ผลการศึกษาทางพยาธิวิทยาพบว่า รอยโรคทางมหพยาธิวิทยาเรียงตามลำดับจากมากไปน้อยคือ contracted kidney, necrotic plaque, pale in color, renal swollen and congestion, renal infarction และ renal calculi ส่วนรอยโรคทางจุลพยาธิวิทยาที่เด่นชัดคือ tubulonecrosis, interstitial nephritis, tubulonephrosis และ glomerulonephritis ผลการตรวจหาระดับการตกค้างของ OTA ด้วย HPLC พบการตกค้างของ OTA ในไตของสุนัข จำนวน 4 ตัว จากทั้งหมด 50 ตัว ปริมาณการตกค้างอยู่ในระดับ 0.04-0.21 ng/g (วิธีการนี้มีอัตราการคืนกลับของสารเท่ากับ 81.43% ค่า LOD และ LOQ มีค่าเท่ากับ 0.04 ng/g และ 0.14 ng/g ตามลำดับ) การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการตกค้างของ OTA กับระดับความรุนแรงของรอยโรคทางจุลพยาธิวิทยาพบว่า มีเพียงรอยโรค glomerulonephritis เท่านั้นที่มีความรุนแรงของรอยโรคเพิ่มขึ้นตามระดับการตกค้างของ OTA ที่เพิ่มขึ้น โดยมีค่า r2= 0.8 จากผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า มีสุนัขจำนวน 4 ตัวที่ได้รับสัมผัสสารพิษ OTA จากสุนัขที่นำมาศึกษาทั้งหมด 50 ตัว