Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อผลิตอีลาสโต เมอริกลิเกเจอร์จัดฟันจากยางธรรมชาติอิพอกไซด์และศึกษาเปรียบเทียบสมบัติทางกายภาพ / ทางกล และความเข้ากันได้ทางชีวภาพของอีลาสโต เมอริกลิเกเจอร์จัดฟันที่ผลิตขึ้นกับ อีลาสโตเมอริกลิเกเจอร์จัดฟันที่เป็นผลิตภัณฑ์ทางการค้า จำนวน 7 ผลิตภัณฑ์
วัสดุและวิธีการ ผลิตอีลาสโตเมอริกลิกเกเจอร์จากยางธรรมชาติอีพอกไซด์จำนวน 4 สูตร และใช้อีลาสโต
เมอริกลิเกเจอร์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ทางการค้าจำนวน 7 ผลิตภัณฑ์ ทำการทดสอบสมบัติทางกายภาพได้แก่ ทดสอบ ร้อยละของน้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงไปในระยะเวลา 28 วัน เมื่อสัมผัสกับน้ำหรือน้ำมัน ทดสอบสมบัติทางกลได้แก่ ค่าแรงดึงเริ่มต้น และความแข็งผิวแบบชอร์เอ และทดสอบความเข้ากันได้ทางชีวภาพต่อเซลล์ไฟโบรบลาสต์ ที่เพาะเลี้ยงจากเหงือกของคน
ผลการศึกษา การทดสอบสมบัติทางกายภาพพบว่าอีลาสโตเมอริกลิกเกเจอร์ที่ผลิตจากยางธรรมชาติอีพอกไซด์ทั้ง 4 สูตร มีน้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงไปในระยะเวลา 28 วันเมื่อสัมผัสกับน้ำหรือน้ำมัน คิดเป็นร้อยละ 6.24 ถึง 8.18 และร้อยละ 4.21 ถึง 5.48 ตามลำดับ ส่วนอีลาสโตเมอริกลิเกเจอร์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ทางการค้ามีน้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงไปร้อยละ 1.12 ถึง 2.15 และประมาณร้อยละ 0.19 ถึง 1.08 ตามลำดับ การทดสอบสมบัติทางกลพบว่าอีลาสโตเมอริกลิกเกเจอร์ที่ผลิตจากยางธรรมชาติอีพอกไซด์ทั้ง 4 สูตรมีค่าแรงดึงเริ่มต้นอยู่ที่ช่วง 2.31 ถึง 3.70 นิวตัน ขณะที่อีลาสโตเมอริกลิเกเจอร์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ทางการค้ามีค่าแรงดึงเริ่มต้นอยู่ที่ช่วง 2.59 ถึง 5.19 นิวตัน ค่าความแข็งผิวแบบชอร์เอของอีลาสโตเมอริกลิกเกเจอร์ที่ผลิตจากยางธรรมชาติอีพอกไซด์อยู่ที่ช่วง 63 ถึง 71 ส่วนอีลาสโตเมอริกลิเกเจอร์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ทางการค้ามีค่าความแข็งผิวแบบชอร์เออยู่ที่ช่วง 60 ถึง 65 และผลการศึกษาด้วยการเพาะเลี้ยงเซลล์ไฟโบรบลาสต์จากเหงือกของคน พบว่าอีลาสโตเมอริกลิกเกเจอร์ทั้งสองชนิดไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ นอกจากนี้ยังเอื้อพื้นผิวให้เซลล์ยึดเกาะ แผ่ตัวและเพิ่มจำนวนด้วย
สรุป อีลาสโตเมอริกลิเกเจอร์ที่ผลิตจากยางธรรมชาติอีพอกไซด์มีร้อยละของน้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อแช่ในน้ำหรือน้ำมัน โดยมีค่าสูงกว่า ในขณะที่มีค่าแรงดึงเริ่มต้นและค่าความแข็งผิวแบบชอร์เอใกล้เคียงกับค่าที่ได้จากอีลาสโตเมอริกลิเกเจอร์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ทางการค้า และอีลาสโตเมอริกลิเกเจอร์ทั้งสองชนิดแสดงสมบัติความเข้ากันได้ทางชีวภาพกับเนื้อเยื่อเหงือกของมนุษย์ได้ดีเช่นเดียวกัน ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าอีลาสโตเมอริกลิเกเจอร์ที่ผลิตจากยางธรรมชาติอีพอกไซด์มีคุณสมบัติที่ดี และมีศักยภาพเพียงพอที่จะปรับปรุงนำไปใช้เป็นยางวงในการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน