Abstract:
การศึกษาหาระดับที่เหมาะสมของการเสริมกระเจี๊ยบแดงทั้งในรูปแบบผง และสารสกัดหยาบ ในอาหารไก่ไข่ ต่อการต้านออกซิเดชั่น สมรรถภาพการผลิตไข่ คุณภาพไข่ และอายุการเก็บรักษาไข่ โดยใช้ไก่ไข่พันธุ์ ซีพี บราวน์ อายุ 33 สัปดาห์ จำนวน 270 ตัว แบ่งไก่ไข่ออกเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มละ 5 ซ้ำๆ ละ 9 ตัว ได้รับอาหารดังนี้ อาหารควบคุม อาหารที่ประกอบด้วยสารสกัดหยาบกระเจี๊ยบแดงในระดับ 1% และ 2% อาหารที่ประกอบด้วยกระเจี๊ยบแดงผงในระดับ 2% และ 4% และอาหารควบคุมเสริมด้วยวิตามินอี ([alpha]-tocopheryl acetate) ในระดับ 250 มก./กก. อาหารทุกสูตรถูกคำนวณให้มีสารอาหารตามความต้องการของสายพันธุ์ ไก่ไข่ถูกเลี้ยงบนกรงตับจำนวน 3 ตัวต่อกรง ภายในโรงเรือนปิดและได้รับอาหารและน้ำอย่างเต็มที่ เป็นเวลานาน 8 สัปดาห์ เก็บข้อมูล ผลผลิตไข่ น้ำหนักไข่ ปริมาณอาหารที่กิน และคุณภาพไข่ ในวันสุดท้ายของสัปดาห์ที่ 4 และ 8 สุ่มไก่มากลุ่มละ 15 ตัว ซ้ำละ 3 ตัว เก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำไปหา Thiobarbituric acid reactive substance (TBARS) ในพลาสมา และสุ่มเก็บไข่กลุ่มละ 15 ฟอง ซ้ำละ 3 ฟอง จำนวน 2 ชุด เพื่อตรวจวัดคุณภาพไข่และ ค่า TBARS ในไข่แดง ในช่วง 6 วันสุดท้ายก่อนสิ้นสุดสัปดาห์ที่ 8 สุ่มเก็บไข่กลุ่มละ 15 ฟอง จำนวน 2 ชุด เก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง (28.8+ 0.3oซ) และตู้เย็น (3.5+0.3 oซ) เป็นระยะเวลา 20 และ 30 วัน ตามลำดับ เพื่อตรวจวัดค่า TBARS ในไข่แดงและคุณภาพไข่
ผลการศึกษาตลอดการทดลองพบว่าไม่มีความแตกต่างทางสถิติของทุกกลุ่มทดลองในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ผลผลิตไข่ ปริมาณอาหารที่กิน ประสิทธิภาพในการเปลี่ยนอาหารเป็นน้ำหนักไข่ 1 กก. ค่าความถ่วงจำเพาะ ความสูงของไข่ขาว ค่า pH ในไข่แดงและไข่ขาว และค่า TBARS ในพลาสมาและไข่แดง ที่ 4 และ 8 สัปดาห์ ผลการใช้กระเจี๊ยบแดงผงและสารสกัดหยาบต่อค่า TBARS และคุณภาพไข่ในการเก็บรักษาไข่ทั้ง 2 อุณหภูมิ พบความแตกต่าง (P<0.01) ที่อายุการเก็บรักษาที่ 20 วัน ทั้ง 2 อุณหภูมิ โดยที่อุณหภูมิห้อง พบว่าสารสกัดหยาบ 1 และ 2 % และกระเจี๊ยบแดงผง 2% ให้ค่าความถ่วงจำเพาะสูงกว่ากลุ่มควบคุม (P<0.01) ขณะที่อุณหภูมิตู้เย็น พบว่ากลุ่มที่ใช้สารสกัดหยาบ 2 % และอาหารที่เสริมวิตามินอี ให้ค่า pH ของ ไข่ขาวสูงและแตกต่างกับกลุ่มควบคุม (P<0.01) สำหรับระยะเวลาในการเก็บรักษาพบว่า ค่า TBARS ใน ไข่แดง ค่า pH ของไข่แดง และค่า pH ของไข่ขาวเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ค่า ฮอร์ยูนิต ลดลงตามระยะเวลาที่เก็บนานขึ้น (P<0.01) ผลการทดลองสรุปได้ว่าการใช้กระเจี๊ยบแดงทุกรูปแบบและทุกระดับไม่มีผลต่อสมรรถภาพการผลิตไข่ คุณภาพไข่ และการต้านออกซิเดชั่นในเลือดและในไข่แดงทั้งก่อนและหลังการเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องและในตู้เย็น ขณะที่ระยะเวลาในการเก็บรักษาที่ยาวนานขึ้นมีผลต่อค่า TBARS และคุณภาพไข่