Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการนำคดีอาญาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ศึกษาเฉพาะพนักงานสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 5 โดยหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่กำหนด ซึ่งได้แก่ ปัจจัยด้านสถานภาพส่วนบุคคล และ สภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อการปฏิบัติงาน กับ การนำคดีอาญาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวมถึงศึกษาแนวโน้มในการรับคดีอาญาบางประเภทเข้าสู่กระบวนการสอบสวน ซึ่งใช้แนวคิดเรื่องการระงับข้อพิพาทโดยไม่ใช้กระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก และ แนวคิดเกี่ยวกับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ งานวิจัยนี้ เป็นการวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพจากประชากรทั้งหมด จำนวน 225 คน โดยการวิจัยเชิงปริมาณเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามซึ่งได้รับคืน จำนวน 202 ชุด เพื่อวิเคราะห์คำตอบโดยหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และการทดสอบค่าไคสแควร์ ซึ่งการทดสอบพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพใช้การสัมภาษณ์แบบเจาะลึกโดบการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน จำนวน 9 คน ผลการวิจัยพบว่า 1) ปัจจัยด้านสถานภาพส่วนบุคคลที่มีผลต่อดุลยพินิจนำคดีอาญาเข้าสู่ระบวนการยุติธรรม คือ อายุ ประสบการณ์ทำงานสอบสวน ชั้นยศ ทัศนะต่อการบังคับใช้กฎหมาย2) ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมด้านอุปสรรคข้อขัดข้องในการสอบสวน วัฒนธรรมย่อยในองค์การนโยบายของผู้บังคับบัญชา และความเสี่ยงต่อการปฏิบัติผิดกฎหมาย มีอิทธิพลต่อการปฏิบัติงานสอบสวนในระดับสูง และมีผลต่อดุลยพินิจนำคดีอาญาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม 3) กลุ่มประชากรส่วนใหญ่ มีทัศนะต่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เคร่งครัด โดยมักใช้วิธีการไกล่เกลี่ยระหว่างคู่กรณีในคดีที่สามารถเบี่ยงเบนออกจากกระบวนการยุติธรรมได้ ก่อนที่จะรับคำร้องทุกข์ ดำเนินคดี คดีประเภทนี้จึงมีแนวโน้มที่จะถูกน้ำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมน้อย