Abstract:
ศึกษาการจัดการกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก่อนและหลังการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงประจักษ์ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างจากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบระหว่างปี พ.ศ. 2541- 2543 โดยยกเว้นบริษัทที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจการเงิน จำนวน 278 บริษัท และวิเคราะห์ผลทางสถิติ โดยใช้การวิเคราะห์ความถดถอยเขิงพหุในการทดสอบความสัมพันธ์ ณ ระดับความเชื่อมั่นที่ 95% โดยใช้ค่ารายการคงค้างที่ขึ้นกับดุลยพินิจของผู้บริหาร ซึ่งคำนวณจากตัวแบบจำลอง Modified Jones (1991) วัดค่าการจัดการกำไร โดยปัจจัยที่มุ่งเน้นในการศึกษาคือ การจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ผลการวิจัยพบว่า การจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามกับการจัดการกำไร อย่างมีนัยสำคัญางสถิติ ซึ่งผลที่ได้สอดคล้องกับผลการศึกษาของ DeFound and Jiambalvo (1991) และ Charles Piot (2005) ที่พบว่าการมีคณะกรรมการตรวจสอบมีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามกับการจัดการกำไร เมื่อจำแนกการทดสอบเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมตามการจัดกลุ่มอุตสาหกรรม ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมี 8 กลุ่ม ปรากฏว่า กลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค กลุ่มวัตถุดิบและสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มบริการ และกลุ่มบริษัทที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูการดำเนินงาน พบว่า การจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบมีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้าม กับการจัดการกำไรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และจากการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของการจัดการกำไร โดยใช้ค่าสถิติ t-test ในการทดสอบพบว่า ค่าเฉลี่ยของกลุ่มบริษัทจดทะเบียนในช่วง 3 ปีก่อนจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ มีค่าเฉลี่ยมากกว่ากลุ่มบริษัทจดทะเบียนในช่วง 3 ปีหลังจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า คณะกรรมการตรวจสอบมีอิทธิพลในการยับยั้งการจัดการกำไร ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย