Abstract:
ศึกษาอิทธิพลของโครงสร้างและบริบทการเมืองระหว่างประเทศในยุคหลังสงครามเย็น ที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาการก่อการร้ายและขบวนการก่อการร้ายในไทยและฟิลิปปินส์รวมทั้งการตอบโต้และการจัดการกับปัญหาดังกล่าวของรัฐไทยและฟิลิปปินส์ ในขณะที่โครงสร้างและบริบทการเมืองระหว่างประเทศในยุคสงครามเย็นมีอิทธิพลต่อ การกำเนิดและพัฒนาการของการก่อการร้ายและขบวนการก่อการร้ายในไทยและฟิลิปปินส์อย่างชัดเจน รวมทั้งส่งผลให้การจัดการปัญหาก่อการร้ายของรัฐไทยและฟิลิปปินส์อยู่ภายใต้การต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นสำคัญ แต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตอันนำไปสู่ การสิ้นสุดของสงครามเย็นและโครงสร้างการเมืองระหว่างประเทศแบบสองขั้ว กลับมิได้เอื้อให้ปัญหาการก่อการร้ายในไทยและฟิลิปปินส์หมดสิ้นไป จากการศึกษาพบว่า โครงสร้างและบริบทการเมืองระหว่างประเทศในยุคหลังสงครามเย็นยังเป็นปัจจัยสำคัญ ที่มีอิทธิพลต่อการตีความและการจัดการปัญหาการก่อการร้ายของรัฐไทยและฟิลิปปินส์ กล่าวคือ ภายใต้สภาวะที่ต้องพัฒนาเศรษฐกิจและพึ่งตนเองด้านความมั่นคง รัฐไทยได้หันมาใช้มิติด้านการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ขณะที่รัฐฟิลิปปินส์หันมาเจรจาสันติภาพกับขบวนการต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม แต่เนื่องจากความไร้ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา ทั้งจากการปราบปรามที่รุนแรงและขีดความสามารถที่จำกัดในการตรวจสอบการนำนโยบายไปปฏิบัติ จึงทำให้ปัญหาการก่อการร้ายยังคงบั่นทอนเสถียรภาพและความมั่นคงของไทย และฟิลิปปินส์อย่างต่อเนื่องนอกจากนี้ ยังพบว่า เหตุการณ์ 9/11 อันนำไปสู่การต่อต้านการก่อการร้ายภายใต้การนำของสหรัฐฯ เป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ การตีความ และการจัดการปัญหาการก่อการร้ายของรัฐไทยและฟิลิปปินส์ที่แตกต่างกัน โดยรัฐไทยได้แยกปัญหาการก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนนออกจากบริบทการต่อต้านการก่อการร้ายภายใต้การนำของสหรัฐฯ ขณะที่รัฐฟิลิปปินส์กลับทำให้ปัญหาการก่อการร้ายกลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศ และดึงมหาอำนาจเข้ามาสนับสนุนการปราบปราม แต่การใช้มาตรปราบปรามทางทหารที่รุนแรงของรัฐไทยและฟิลิปปินส์ นอกจากจะมิใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องและยั่งยืน ยังเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้บานปลายยิ่งขึ้นด้วย