Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์โดยสรุป 3 ประการ คือ 1) เพื่อสร้างนักวิจัยรุ่นเยาว์โดยใช้
การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 2) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบสัมฤทธิผลทางการเรียนรู้ และความตระหนัก
ในความเป็นไทย ระหว่างนักเรียนในกลุ่มควบคุมกับกลุ่มทดลอง 3) เพื่อศึกษาความพอใจของ
นักเรียนในกลุ่มทดลอง และผู้ปกครอง ต่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และ 4) เพื่อวิเคราะห์ และ
สังเคราะห์ผลการเรียนรู้ของนักเรียนที่เกิดจากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แบบแผนการวิจัยเป็น
แบบการทดลองภาคสนาม มีกลุ่มควบคุมและมีการวัดซ้ำ ใช้เวลา 2 ภาคเรียนติดต่อกัน นักเรียน
กลุ่มทดลองได้เรียนรู้จากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมใน 3 จังหวัด คือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
จังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดนครราชสีมา ส่วนนักเรียนกลุ่มควบคุมได้เรียนรู้เชิงวัฒนธรรมผ่าน
การสอนโดยเฉพาะสาระการเรียนรู้จากจังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดนครราชสีมาเท่านั้น กลุ่ม
ตัวอย่างเป็นนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่าย
ประถม จำนวน 32 คน ได้มาจากการคัดเลือกด้วยการสอบและการสัมภาษณ์ เครื่องมือที่ใช้
ประกอบด้วย แบบสังเกตพฤติกรรมการเป็นนักวิจัย แบบทดสอบ แบบสอบถามความตระหนักใน
ความเป็นไทย แบบสอบถามความพอใจต่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ค่าความเที่ยงเท่ากับ .81 -
.84 การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติบรรยาย การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ การวิเคราะห์
และสังเคราะห์ผลการเรียนรู้ และคุณค่าจากสมุดบันทึก เสนอผลการสังเคราะห์เนื้อหาเป็นเรื่องเล่า
ข้อค้นพบที่สำคัญมีดังนี้ 1) การเป็นนักวิจัยรุ่นเยาว์ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
สามารถพัฒนาและจำแนกการเป็นนักวิจัยรุ่นเยาว์ได้เป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่เป็นนักวิจัยระดับดี
4 คน ระดับดีมาก 7 คน และระดับดีมากที่สุด 4 คน 2) สัมฤทธิผลการเรียนรู้และความ
ตระหนักในความเป็นไทย ผลการทดสอบเปรียบเทียบความแตกต่างค่าเฉลี่ยสัมฤทธิผลการ
เรียนรู้และความตระหนักในความเป็นไทย พบว่านักเรียนในกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่ม
ควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 3) ความพอใจต่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม นักเรียนใน
กลุ่มทดลองและผู้ปกครองมีความพอใจต่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมระดับมาก 4) ผลการเรียนรู้
นักเรียนมีผลการเรียนรู้จากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแตกต่างกันตามสภาพวัฒนธรรมของจังหวัด
ประกอบด้วยผลการเรียนรู้แยกเป็น 3 หมวดหมู่ เรียงตามจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุพรรณบุรี และ
นครราชสีมา คือ การเป็นนักวิจัยรุ่นเยาว์ มีความถี่กระบวนการคิดที่แสดงพฤติกรรมความเป็น
นักวิจัยเท่ากับ 80, 52 และ 85 แยกเป็นวิธีคิด 6, 7 และ 7 ด้าน ด้านที่มีความถี่สูงสุด คือ การเรียนรู้
ประโยชน์ต่อส่วนรวมและต่อตนเอง แยกเป็น 9, 9 และ 10 ด้าน ด้านที่มีความถี่สูงสุด คือ การ
อนุรักษ์ การสืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย และ ผลการเรียนรู้ด้านคุณธรรม แยกเป็น 8, 9
และ 8 ด้าน ด้านที่มีความถี่สูงสุด คือ สมาธิและสติ ความรักและเมตตา และความพยายามตามลำดับ