Abstract:
วัตถุประสงค์ของการวิจัยนี้คือ เพื่อ (1) เปรียบเทียบคุณภาพซอฟต์แวร์ของซอร์สโค้ดก่อนทำกระบวนการรีแฟคทอริงกับซอร์สโค้ดหลังทำกระบวนการรีแฟคทอริงในแต่ละวิธี (2) เปรียบเทียบคุณภาพซอฟต์แวร์จากซอร์สโค้ดที่ผ่านกระบวนการรีแฟคทอริง 1 วิธีกับซอร์สโค้ดที่ผ่านกระบวนการรีแฟคทอริง 2 วิธี และ (3) เปรียบเทียบคุณภาพซอฟต์แวร์ของซอร์สโค้ดที่ผ่านกระบวนการรีแฟคทอริง 2 วิธีที่มีการสลับลำดับกัน ซึ่งคุณภาพซอฟต์แวร์คือ ความสามารถในการบำรุงรักษา (Maintainability) ความสามารถในการนำกลับมาใช้ใหม่ (Reusability) และความสามารถในการทำความเข้าใจ (Understandability) โดยใช้มาตรวัดเชิงวัตถุของ Chidamber และ Kemerer (1994) 6 มาตรวัด มาตรวัดเชิงวัตถุของ Lorenz และ Kidd (1994) มาตรวัด มาตรวัดเชิงวัตถุของ Abreu (1996) 6 มาตรวัด และมาตรวัดคอมเมนต์เปอร์เซ็นต์เทจ 1 มาตรวัด (Rosenberg และ Hyatt, 1995) งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง ซึ่งหน่วยทดลองที่นำมาใช้เพื่อตอบวัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้คือ ผลงานการโปรแกรมของนิสิตปริญญาบัณฑิตที่ผ่านการเรียนวิชาพื้นฐานการโปรแกรมเชิงวัตถุ (Object – Oriented Programming Foundation) โดยผู้วิจัยได้กำหนดให้ผลงานที่นำมาเป็นหน่วยทดลองต้องเป็นโปรแกรมที่พัฒนาด้วยภาษาซีชาร์ป (C#) ที่เป็นการประยุกต์เชิงธุรกิจและต้องมีจำนวนคลาสภายในตั้งแต่ 5 คลาสขึ้นไป ซึ่งมีหน่วยทดลองที่สามารถนำมาใช้ในการวิจัยได้ทั้งหมด 32 หน่วยทดลอง ผลการวิจัยพบว่า การนำกระบวนการรีแฟคทอริงมาใช้ในซอร์สโค้ดที่ถูกพัฒนาโดยวิธีการเชิงวัตถุ ทำให้คุณภาพซอฟต์แวร์ดีขึ้นไม่ว่าจะทำกระบวนการรีแฟคทอริง 1 วิธีหรือ 2 วิธีแต่การสลับลำดับการนำกระบวนการรีแฟคทอริงไปใช้ไม่ทำให้คุณภาพซอฟต์แวร์แตกต่างกัน