Abstract:
ไลเคนพลานัสในช่องปากจัดเป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่งของเยื่อเมือกในช่องปาก ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดในการเกิดโรค แต่เชื่อว่าความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันชนิดเซลล์เป็นสื่อมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดพยาธิสภาพของโรค และจากรายงานที่ผ่านมาสนับสนุนว่าซัยโตไคน์หลายชนิดที่สร้างจากเซลล์ในบริเวณรอยโรคมีความสำคัญในการควบคุม การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในบริเวณนั้น อินเตอร์เฟอรอน-แกมมา (interferon-gamma; IFN- γ) เป็นซัยโตไคน์ชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการอักเสบซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการเกิดพยาธิสภาพของรอยโรคไลเคนพลานัสในช่องปาก การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงการแสดงออกของ IFN- γ ในรอยโรคไลเคนพลานัสในช่องปากในระดับเซลล์โดยใช้วิธีอิมมูโนฮิสโตเคมี ชิ้นเนื้อจากผู้ป่วยไลเคนพลานัสในช่องปากจำนวน 20 ราย และกลุ่มควบคุมเนื้อเยื่อปากจำนวน 20 ราย ทำการตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยังผลการวินิจฉัย และทำการย้อมอิมมูโนฮิสโตเคมีด้วยแอนติบอดีต่อ IFN-γ ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยไลเคนพลานัสในช่องปาก 19 จาก 20 ราย (ร้อยละ 95) แสดงปฏิกริยาที่ให้ผลบวกต่อ IFN- γ ซึ่งพบในโมนิวเคลียร์เซลล์ในชั้นใต้เยื่อบุผิว ในขณะที่ 5 จาก 20 ราย (ร้อยละ 25) พบในเซลล์สังเคราะห์เคอราติน ส่วนกลุ่มควบคุมเนื้อเยื่อปกติ 2 ใน 20 แสดงปฏิกิริยาที่ให้ผลบวกต่อ IFN-γ ซึ่งพบในโมโนนิวเคลียร์เซลล์ในขณะที่ไม่พบการแสดงออกของ IFN-γ ในเซลล์สังเคราะห์เคอราตินในเนื้อเยื่อปกติทั้งหมดอย่างไรก็ตาม จำนวนโมโนนิวเคลียร์เซลล์ที่มีการแสดงออกของ IFN- γ ของกลุ่มผู้ป่วยไลเคนพลานัสในช่องปากมีค่าสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.000)ในขณะที่จำนวนเซลล์สังเคราะห์เคอราตินที่มีการแสดงออกของ IFN-γ ของกลุ่มผู้ป่วยไลเคนพลานัสในช่องปากมีค่าสูงกว่ากลุ่มควบคุมแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.059) นอกจากนี้ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในจำนวนเซลล์ที่ให้ผลบวกต่อ IFN- γ ในกลุ่มป่วยไลเคนพลานัสในช่องปากระหว่างชนิดแผลถลอกและฝ่อลีบ จากการศึกษานี้แสดงว่า IFN-γ ที่มีการแสดงออกเพิ่มขึ้นบริเวณรอยโรคอาจมีบทบาทสำคัญต่อการเกิดพยาธิสภาพของรอยโรคไคเคนพลานัสในช่องปาก.