Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบความผูกพัน และการแก้ไขความขัดแย้งของนักศึกษาอาชีวศึกษา กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาอาชีวศึกษาจำนวน 567 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้คือ แบบวัดรูปแบบความผูกพัน แบบวัดรูปแบบการแก้ไขความขัดแย้ง วิเคราะห์ข้อมูลโดย วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว ความแปรปรวนสองทาง การเปรียบเทียบพหุคูณด้วยวิธีการ Dunnett's T3 และScheffe และหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน ผลการวิจัยพบว่า 1. นักศึกษาอาชีวศึกษาโดยทั่วไปมีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคง ใช้รูปแบบการแก้ไขความขัดแย้งแบบบูรณาการและแบบประนีประนอมในระดับค่อนข้างสูง ใช้รูปแบบการแก้ไขความขัดแย้งแบบหลีกหนี แบบยอมให้และแบบแข่งขันในระดับปานกลาง 2. นักศึกษาหญิงมีรูปแบบการมองผู้อื่นด้านบวกมากกว่านักศึกษาชาย 3. นักศึกษาหญิงใช้รูปแบบการแก้ไขความขัดแย้งแบบบูรณาการและแบบประนีประนอมสูงกว่านักศึกษาชาย ในขณะที่นักศึกษาชายใช้รูปแบบการแก้ไขความขัดแย้งแบบแข่งขันสูงกว่านักศึกษาหญิง 4. นักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคงและแบบกังวลใช้รูปแบบการแก้ไขความขัดแย้งแบบบูรณาการสูงกว่านักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบทะนงตน และแบบหวาดกลัว และกลุ่มนี้ยังใช้รูปแบบการแก้ไขความขัดแย้งแบบประนีประนอมสูงกว่านักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบทะนงตน 5. นักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบกังวลใช้รูปแบบการแก้ไขความขัดแย้งแบบแข่งขันสูงกว่านักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคงและแบบทะนงตน6. นักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบกังวลและแบบหวาดกลัวใช้รูปแบบการแก้ไขความขัดแย้งแบบยอมให้สูงกว่านักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคงและแบบทะนงตน และกลุ่มนี้ยังใช้รูปแบบการแก้ไขความขัดแย้งแบบหลีกหนีสูงกว่านักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบทะนงตน 7. รูปแบบการมองตนเองด้านลบมีความสัมพันธ์ทางบวกกับรูปแบบการแก้ไขความขัดแย้งแบบยอมให้ 8. รูปแบบการมองผู้อื่นด้านลบมีความสัมพันธ์ทางลบกับรูปแบบการแก้ไขความขัดแย้งแบบบูรณาการ และแบบประนีประนอม 9. รูปแบบการแก้ไขความขัดแย้งแบบบูรณาการมีความสัมพันธ์ทางบวกกับรูปแบบการแก้ไขความขัดแย้งแบบประนีประนอม 10. รูปแบบการแก้ไขความขัดแย้งแบบยอมให้มีความสัมพันธ์ทางบวกกับรูปแบบการแก้ไขความขัดแย้งแบบประนีประนอมและแบบหลีกหนี