Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงการแตกหักของพอร์ซเลนบนชิ้นงาน ตัวอย่างที่มีการออก แบบโลหะ พอร์ซเลนและตำแหน่งจุดกดแตกต่างกัน ทำการทดสอบชิ้นงาน 8 กลุ่ม โดยมีการออกแบบโลหะรองรับพอร์ซเลนดังต่อไปนี้ ชิ้นงานแผ่นแบนหนา 0.3 มม.สม่ำเสมอ(กลุ่มที่1), ชิ้นงานตรงกลางบาง 0.1 มม.(กลุ่มที่2), ชิ้นงานโลหะรองรับเป็นทรงกรวยมุมแหลมส่วนหนาสุด 2.3 มม.(กลุ่มที่3), ชิ้นงานโลหะรองรับนูนเป็นมุมมนส่วนหนาสุด 2.3 มม.(กลุ่มที่4), ชิ้นงานรูปขั้นบันไดจุดกดตรงรอยต่อ (กลุ่มที่5), ชิ้นงานรูปขั้นบันไดจุดกดตรงกลาง(กลุ่มที่6), ชิ้นงานรูปขั้นบันไดจุดกดตรงขอบ(กลุ่มที่7), ชิ้นงานรูปขั้นบันไดจุดกดเป็นมุมเฉียง 30 องศา(กลุ่มที่8) โดยชิ้นงานโลหะเคลือบกระเบื้องขนาด 7 x 9 มม.² ทุกกลุ่มๆละ 10 ชิ้น ได้เตรียมขึ้นตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิต นำชิ้นงานที่ได้มายึดบนแป้นทองเหลืองด้วยซิงค์ฟอสเฟตซีเมนต์ จากนั้นนำไปแช่ในน้ำกลั่น 37 องศา เซลเซียส 24 ชั่วโมง นำชิ้นงานที่ได้มาทดสอบแรงอัดในแนวดิ่งจนพอร์ซเลนแตก ด้วยเครื่องทดสอบสากลรุ่น Instron 8872 ที่มีหัวกดรูปทรงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 ม.ม. ความเร็วหัวกด 1 มม./นาที ผลการทดลองพบว่าค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (X̅ +- S.D.) ของแต่ละกลุ่มมีค่าดังนี้ 1)2506.03 +- 257.98N 2)2027.07 +- 180.74N 3)2101.12 +- 101.55N 4)2117.12 +- 125.49N 5)1461.20 +- 139.20N 6)2092.40 +- 113.79N 7)791.64 +- 87.96N 8)1062.38 +- 187.83N เมื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์โดยใช้สถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียวและการ ทดสอบการเปรียบเทียบเชิงซ้อนชนิดแทมเฮน ได้ผลดังนี้ ชิ้นงานกลุ่มที่1 มีค่าเฉลี่ยแรงอัดสูงสุดที่ทำให้พอร์ซเลนเกิดการแตกหักแตกมากที่สุด และมากกว่ากลุ่มอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในกลุ่มที่ 5, 7 และ8 ซึ่งเป็นชิ้นงานรูปขั้นบันไดที่มีตำแหน่งจุดกดแตกต่างกัน (p<0.05) ส่วนในชิ้นงานกลุ่มที่ 2, 3, 4 และ6 ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p≥0.05) จากข้อมูลข้างต้นทำให้สรุปได้ว่า ความหนาที่ไม่สม่ำเสมอของโลหะที่รองรับพอร์ซเลน รวมทั้งตำแหน่ง และทิศทางของแรงกด มีผลต่อความต้านทานการแตกหักของชิ้นงานโลหะเคลือบกระเบื้อง.