Abstract:
การสึกของหัวเจาะรากเทียมในการเตรียมกระดูกเพื่อฝังรากเทียมนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เมื่อมีการใช้หัวเจาะซ้ำๆ ในการเจาะกระดูก มีงานวิจัยพบว่าโครเมียมและนิกเกิลเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของเหล็กกล้าไร้สนิม และเป็นโลหะที่มีผลรบกวนต่อการสะสมแร่ธาตุในการสร้างกระดูกอย่างมีนัยสำคัญเมื่อทำการเพาะเลี้ยงเซลล์จากไขกระดูก วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้ คือ การศึกษาการตกค้างของโลหะโครเมียมและนิกเกิลที่เกิดจากหัวเจาะรากเทียมที่ตกค้างในกระดูก โดยใช้หัวเจาะรากเทียม คือ เทปเปอร์ทิปดริว เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 มิลลิเมตร , เทปเปอร์ดริว เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5 มิลลิเมตร และหัวเจาะรีมเมอร์ เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.7 มิลลิเมตร โดยเจาะที่ความเร็วรอบ 1,500 รอบต่อนาที เจาะลึก 10 มิลลิเมตร การตกค้างของโลหะจากหัวเจาะในกระดูกนั้นจะทำภายหลังการใช้หัวเจาะเป็นครั้งที่1 ครั้งที่10 และการใช้หัวเจาะเป็นครั้งที่20 ในการเจาะกระดูก เพื่อเปรียบเทียบการตกค้างของโลหะจากการใช้หัวเจาะเป็นครั้งที่ 10 และครั้งที่ 20 ว่ามีการตกค้างของโลหะแตกต่างจากการใช้หัวเจาะครั้งที่1หรือไม่ ในงานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาโดยการเจาะชิ้นกระดูกวัวที่ถูกตัดมาจากบริเวณขากรรไกรล่างของวัวโดยตัดให้มีขนาด 0.8x0.8x1.2 ลูกบาศก์เซนติเมตร และวิเคราะห์ปริมาณโลหะที่ตกค้างในกระดูกด้วยเครื่องแกร์ไฟต์เฟอเนท อะตอมมิกแอบซอร์พชันสเปกโทรโฟโตมิเตอร์ วิเคราะห์ผลการทดลองด้วยการทดสอบผลต่างค่าเฉลี่ยประชากรแบบจับคู่ และการเปรียบเทียบค่ากลางของข้อมูลโดยใช้สถิติครูสคัล-วัลลิส ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 แล้วทำการเปรียบเทียบพหุคูณระหว่างกลุ่ม พบว่า มีการตกค้างของโครเมียมและนิกเกิลในกระดูก ภายหลังการเจาะกระดูกด้วยหัวเจาะรากเทียมทั้ง 3 ตัว แต่ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของโลหะทั้งสองในกระดูกที่ผ่านการเจาะกระดูกครั้งแรกกับกระดูกที่ไม่ผ่านการเจาะใดๆ และพบว่าภายหลังการใช้หัวเจาะรากเทียมเป็นครั้งที่ 20 จะทำให้เกิดการตกค้างของโครเมียมและนิกเกิลจากหัวเจาะมากที่สุด (0.249+0.347 และ 0.197+0.135 ไมโครกรัม/กรัม) การเจาะครั้งที่ 10 ให้การตกค้างที่มากเป็นลำดับรองลงมา (0.090+0.079 และ 0.092+0.103 ไมโครกรัม/กรัม) และการเจาะครั้งที่ 1 ให้เกิดการตกค้างของโครเมียมและนิกเกิลจากหัวเจาะน้อยที่สุด (0.045+0.124 และ 0.034+0.049 ไมโครกรัม/กรัม) และเมื่อศึกษาการตกค้างที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งของการเจาะโดยแยกประเภทของโลหะพบว่า การตกค้างของโครเมียมจากหัวเจาะมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อใช้หัวเจาะครั้งที่ 1 เปรียบเทียบกับการใช้หัวเจาะครั้งที่10 และครั้งที่20 สำหรับการตกค้างของนิกเกิลพบว่า มีเพียงการใช้หัวเจาะเป็นครั้งที่ 20 ที่ทำให้นิกเกิลที่ตกค้างจากหัวเจาะมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้หัวเจาะครั้งที่1.