Abstract:
การศึกษาเรื่องกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์และการจัดการความขัดแย้งในชุมชนมุสลิม : ศึกษากรณีชุมชนบ้านสลาม จังหวัดปัตตานี มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาแนวคิดและรูปแบบสัมพันธภาพในการผูกโยงสมาชิกในชุมชนที่เอื้อต่อการดำเนินกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งร่วมกันตลอดจนศึกษารูปแบบและกระบวนการป้องกันและแก้ไขความขัดแย้งในชุมชนมุสลิม และนำผลการศึกษาเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งอย่างสันติวิธีเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทยโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อทำความเข้าใจลักษณะโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมของชุมชนมุสลิมด้วยวิธีการศึกษาแบบมีส่วนร่วมและกรณีศึกษา ในพื้นที่บ้านสลาม หมู่ที่ 8 ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ผลการศึกษาพบว่า (1) ชุมชนมุสลิมมีโครงสร้างทางสังคมที่มีความเชื่อมโยงอ้างอิงอยู่บนพื้นฐานของหลักคำสอนของศาสนาอิสลามซึ่งเป็นที่มาของการรวมตัวก่อตั้งเป็นชุมชนโดยมีหลักศรัทธาและหลักปฏิบัติเป็นกรอบกำหนดวิถีชีวิตชุมชน (2) ชุมชนมุสลิมใช้การ “อีบาดะฮฺ” ซึ่งเป็นการประกอบคุณงามความดีโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อถวายแด่พระผู้เป็นเจ้ามาใช้ในการผูกโยงความสัมพันธ์ของสมาชิกในชุมชนบนพื้นฐานของความเป็นพี่น้องในอิสลามเพื่อป้องกันความขัดแย้ง และ (3) ชุมชนมุสลิมมี “มูชาวาเราะฮฺ” เป็นกระบวนการปรึกษาหารือเรื่องราวต่างๆเพื่อหาทางออกหรือแนวทางสำหรับการดำเนินกิจกรรม ในชุมชนรวมทั้งการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆโดยมีสภาชูรอหรือ สภามูชาวาเราะฮฺคอยให้คำปรึกษาบนพื้นฐานบทบัญญัติของศาสนาอิสลามเป็นสำคัญ ซึ่ง “มูชาวาเราะฮฺ” นี้ถือเป็นกระบวนวิธีเชิงสมานฉันท์ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในชุมชนมุสลิม.