Abstract:
วิทยานิพนธ์ เรื่อง “พลังสีหมากสุก”: ทุนสังคมและทุนวัฒนธรรมของผู้เฒ่าบ้านนอกจากร้อยเอ็ดในบริบทสังคมนคร มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อศึกษาและวิเคราะห์อัตลักษณ์ ทุนสังคมและทุนวัฒนธรรม ของกลุ่มผู้เฒ่าบ้านนอกจากหมู่บ้านจังหวัดร้อยเอ็ดที่อพยพเข้ามาขายลูกอมในกรุงเทพมหานคร โดยศึกษา กลุ่มผู้เฒ่าจำนวน 8 คนและบริบทที่เกี่ยวข้อง ด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งมีแนวคิดเรื่อง อัตลักษณ์ ทุนสังคม และทุนวัฒนธรรม เป็นแนวทางในการศึกษา และดำเนินการระหว่างเดือนมิถุนายน 2549 -กุมภาพันธ์ 2550 ผลการศึกษาพบว่า อัตลักษณ์ ของกลุ่มผู้เฒ่าบ้านนอกจากหมู่บ้านจังหวัดร้อยเอ็ดที่อพยพเข้ามาขายลูกอมในกรุงเทพมหานครถูกอ้างอิงกับสิ่งที่ทำให้พวกเขามีความหมายเป็นพิเศษ ได้แก่ ก) ความเป็นคนในหมู่บ้านจากอีสาน ข) สถานภาพที่สะท้อนถึงผู้มีบทบาทสำคัญในครอบครัว ค) ผู้ดิ้นรนต่อสู้ชีวิตด้วยตัวเองเพื่อรักษาสิทธิบางประการ ง) การเปรียบเทียบความความต่างระหว่างกลุ่มตนเองกับกลุ่มอื่น และ จ) สำนึกในการนิยามตัวตนไปตามสถานการณ์โดยใช้แหล่งอ้างอิงที่หลากหลาย ทุนสังคม ปรากฏ 3 รูปแบบ ก) คือ ทุนสังคมที่อยู่บนพื้นฐานของเครือญาติและเพื่อนบ้าน ข) เครือข่ายความสัมพันธ์ในกรุงเทพฯ และหมู่บ้าน ค) เป็นทุนสังคมภาคปฏิบัติการของการปฏิสัมพันธ์ภายในกลุ่มและระหว่างกลุ่ม รูปแบบทุนสังคมดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของ“ความสำนึกคำนึงถึงผู้อื่น” เช่น ความไว้ใจกัน การตอบแทนกัน การใช้ประโยชน์ร่วมกัน การมีส่วนร่วมอย่างสมัครใจ ส่วนทุนวัฒนธรรม เป็น “ระบบคุณค่าและวิถีร่วมของสมาชิกกลุ่ม” ที่แฝงอยู่ในรูปของโครงสร้างทางวัฒนธรรม แนวจริต วิถีคิดและวิถีปฏิบัติที่สืบทอดมาแต่เดิม ต่อยอดจากของเดิมและเกี่ยวข้องกับการปรับประยุกต์ให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลต่อการอำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม และยังพบว่า ทั้งทุนสังคม และทุนวัฒนธรรม สามารถลดต้นทุน และกระจายทรัพยากรทางเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันภายในกลุ่มอีกด้วย.