Abstract:
คราบบุหรี่บนผิวฟันเทียมเป็นปัญหาที่พบได้ในผู้ที่ใส่ฟันเทียมร่วมกับการสูบบุหรี่ ส่งผลต่อความสวยงาม นอกจากจะทำความสะอาดยากแล้ว คราบบุหรี่ยังอาจมีผลต่อคุณสมบัติทางกายภาพของเรซินอะคริลิกด้วย ปัจจุบันมีการนำสารเคลือบผิวเรซินอะคริลิกมาใช้ วัตถุประสงค์หลักเพื่อลดการยึดเกาะของคราบจุลินทรีย์ และลดการปล่อยมอนอเมอร์ตกค้างจากฐานฟันเทียม ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการศึกษาในครั้งนี้คือ เพื่อทราบผลของควันบุหรี่ที่มีต่อความแข็งผิวและการเปลี่ยนสีของเรซินอะคริลิกที่ใช้และไม่ใช้สารเคลือบผิว ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ภายหลังอบควันบุหรี่และแช่สารทำความสะอาดฟันเทียมนานข้ามคืน โดยเตรียมชิ้นงานเรซินอะคริลิกขนาด 15X15X3 มิลลิเมตร จำนวน 200 ชิ้น แบ่งเป็น 4 กลุ่ม เพื่อเตรียมผิวที่แตกต่างกัน (เรซินอะคริลิกขัดด้วยแท่งไขขัดมันสำหรับเป็นกลุ่มควบคุม และที่เคลือบผิวด้วย Bosworth GlazeTM, Palaseal® และ Plaquit) ทำการวัดสีและความแข็งผิวก่อนและหลังจากอบควันบุหรี่นาน 60 นาที หลังจากนั้นแบ่งชิ้นงานแต่ละกลุ่ม ให้เป็น 5 กลุ่มย่อย สำหรับการแช่ในน้ำและสารทำความสะอาดฟันเทียม (Bonyplus, Fitty®Dent, Polident และ Steradent) จึงวัดสีและความแข็งผิวอีกครั้ง ผลการศึกษาพบว่าหลังจากอบควันบุหรี่ เรซินอะคริลิกที่ใช้สารเคลือบผิวทุกกลุ่มมีการติดสีน้อยกว่ากลุ่มควบคุม และการแช่ในสารละลายใดๆ ไม่มีผลต่อการติดสีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่กลุ่มควบคุมจะมีการเปลี่ยนสีมากอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) เมื่อแช่ในน้ำ สำหรับค่าความแข็งผิว พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่เคลือบ Plaquit (สารเคลือบผิวชนิดบ่มด้วยแสง) มีความแข็งผิวสูงที่สุด ขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่เคลือบ Bosworth GlazeTM (สารเคลือบผิวชนิดละลายในตัวทำละลาย) มีความแข็งผิวต่ำที่สุด และเมื่อนำชิ้นตัวอย่างมาอบควันบุหรี่และแช่สารทำความสะอาดฟันเทียมแล้ว กลุ่มที่ใช้สารเคลือบผิวทุกกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มควบคุมมีความแข็งผิวเปลี่ยนแปลง ยกเว้นกลุ่มที่เคลือบ Palaseal® ที่มีค่าความแข็งผิวไม่แตกต่างจากตอนเริ่มต้น ความรู้ที่ได้จากการวิจัยนี้สามารถนำไปเป็นแนวทางเบื้องต้น ในการเลือกใช้สารเคลือบผิว ให้เหมาะกับสารทำความสะอาดฟันเทียมแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยไม่ส่งผลต่อคุณสมบัติการติดสี และความแข็งผิวของเรซิน อะคริลิกในผู้ป่วยที่ใส่ฟันเทียมและสูบบุหรี่ร่วมด้วย.