Abstract:
ศึกษาการแก้ปัญหาความไม่เป็นเอกภาพของความแปรปรวนสำหรับแผนแบบการทดลองสุ่มตลอด ในการวิจัยครั้งนี้ได้สร้างข้อมูลตามขอบเขตการวิจัยด้วยโปรแกรม S–PLUS 2000 โดยกำหนดให้จำนวนวิธีทดลองเท่ากับ 3, 5 และ 7 จำนวนซ้ำในการทดลองเท่ากับ 3, 4, 5 และ 6 ให้อัตราส่วนของความแปรปรวนมีความแตกต่างกัน 3 ระดับ ได้แก่ น้อย ปานกลาง และมาก สำหรับเกณฑ์ที่ใช้ในการเปรียบเทียบวิธีการแปลงข้อมูลที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้นคือ ค่าสัดส่วนความสำเร็จสูงสุดในการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นเอกภาพของความแปรปรวนและข้อมูลหลังการแปลงมีการแจกแจงแบบปกติ ค่าสัดส่วนของการปฏิเสธสมมติฐานว่างและอำนาจการทดสอบของการทดสอบเอฟที่ระดับนัยสำคัญ 0.01 และ 0.05 ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้ การแปลงข้อมูลด้วยค่าพารามิเตอร์ยกกำลัง (lambda) ที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาความไม่เป็นเอกภาพของความแปรปรวนและข้อมูลยังคงมีการมีการแจกแจงปกติ กรณีความแตกต่างของความแปรปรวนมีความแตกต่างกันน้อย จำนวนวิธีทดลองเท่ากับ 3 คือ -2.0 และ -1.5 จำนวนวิธีทดลองเท่ากับ 5 คือ -0.5 และจำนวนวิธีทดลองเท่ากับ 7 คือ -1.5 และ -1.0 กรณีความแตกต่างของความแปรปรวนมีความแตกต่างกันปานกลาง จำนวนวิธีทดลองเท่ากับ 3 คือ -1.5 และ -1.0 จำนวนวิธีทดลองเท่ากับ 5 คือ -0.5 และ 0.0 และจำนวนวิธีทดลองเท่ากับ 7 คือ -0.5 กรณีความแตกต่างของความแปรปรวนมีความแตกต่างกันมาก จำนวนวิธีทดลองเท่ากับ 3 คือ -1.5 และ -1.0 จำนวนวิธีทดลองเท่ากับ 5 คือ 0.0 และจำนวนวิธีทดลองเท่ากับ 7 คือ -0.5 และ 0.0