Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาพลักษณ์ทางร่างกายและการเห็นคุณค่าในตนเองของวัยรุ่นที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายในกรุงเทพมหานคร เพศหญิงและชาย อายุระหว่าง 13–18 ปี มีน้ำหนักมาตรฐาน (BMI ระหว่าง 18.5–24.9) น้ำหนักเกินมาตรฐาน (เริ่มอ้วน) (BMI ระหว่าง 25–29.9) และน้ำหนักในระดับอ้วน (BMI ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป) จำนวน 341 คน เครื่องมือในการวิจัยครั้งนี้คือ แบบวัดภาพลักษณ์ทางร่างกาย (Body Image Scale) และแบบสำรวจตนเอง (แบบวัดการเห็นคุณค่าในตนเอง: Self-Esteem) ใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนสองทาง และทดสอบค่าเฉลี่ยรายคู่ด้วยวิธี Scheffe หรือ Dunnett’s T3 ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. วัยรุ่นที่มีน้ำหนักมาตรฐาน มีความพึงพอใจภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนในระดับค่อนข้างสูง ในขณะที่วัยรุ่นที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน (เริ่มอ้วน) มีความพึงพอใจในภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนในระดับปานกลาง และวัยรุ่นที่มีน้ำหนักในระดับอ้วน (โรคอ้วน) มีความไม่พึงพอใจในภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนในระดับค่อนข้างสูง 2. วัยรุ่นที่มีน้ำหนักมาตรฐาน เห็นคุณค่าในตนเองในระดับสูง ในขณะที่วัยรุ่นที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน (เริ่มอ้วน) และที่มีน้ำหนักในระดับอ้วน เห็นคุณค่าในตนเองในระดับปานกลาง 3. วัยรุ่นทั้งชายและหญิงที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน (เริ่มอ้วน) และน้ำหนักในระดับอ้วน ส่วนใหญ่ควบคุมน้ำหนักของตนเอง ด้วยวิธีออกกำลังกายและควบคุมอาหาร 4. วัยรุ่นที่มีน้ำหนักมาตรฐาน มีความพึงพอใจในภาพลักษณ์ทางร่างกายและมีการเห็นคุณค่าในตนเองสูงกว่าวัยรุ่นที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน (เริ่มอ้วน) และที่มีน้ำหนักในระดับอ้วน ในขณะที่วัยรุ่นที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน (เริ่มอ้วน) มีความพึงพอใจในภาพลักษณ์ทางร่างกายและมีการเห็นคุณค่าในตนเองสูงกว่าวัยรุ่นที่มีน้ำหนักในระดับอ้วน 5. วัยรุ่นตอนต้นและตอนปลายหญิงที่มีน้ำหนักมาตรฐาน มีความพึงพอใจในภาพลักษณ์ทางร่างกายของตน ในระดับที่สูงกว่ากลุ่มที่มีน้ำหนักในระดับอ้วน 6. วัยรุ่นตอนต้นและตอนปลายชายที่มีน้ำหนักมาตรฐาน มีความพึงพอใจในภาพลักษณ์ทางร่างกายของตน ในระดับที่สูงกว่ากลุ่มที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน (เริ่มอ้วน) และที่มีน้ำหนักในระดับอ้วน 7. ในกลุ่มที่มีน้ำหนักมาตรฐาน วัยรุ่นตอนต้นชายมีความพึงพอใจในภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนในระดับที่สูงกว่าหญิงที่อยู่ทั้งในช่วงวัยรุ่นตอนต้นและตอนปลาย 8. ในกลุ่มวัยรุ่นตอนต้นและตอนปลายที่มีน้ำหนักในระดับอ้วน ผู้หญิงมีความพึงพอใจภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนในระดับที่สูงกว่าชาย 9. ในกลุ่มวัยรุ่นตอนต้นและตอนปลายทั้งชายและหญิงที่มีน้ำหนักมาตรฐานและน้ำหนักเกินมาตรฐาน (เริ่มอ้วน) เห็นคุณค่าในตนเองสูงกว่ากลุ่มที่มีน้ำหนักในระดับอ้วน