Abstract:
ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคุณลักษณะเด่น ความพึงพอใจในชีวิต และความพึงพอใจในการทำงานของคนไทยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยศึกษาว่าคุณลักษณะเด่นเหล่านั้นมีความสัมพันธ์ในทางสถิติ และสามารถทำนายความพึงพอใจในชีวิตและความพึงพอใจในการทำงานของคนไทย ได้มากน้อยเพียงใด กลุ่มตัวอย่างเป็นคนไทยอายุ 17-60 ปีในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจำนวน 3,562 คน ประเมินคุณลักษณะเด่นโดยใช้แบบประเมิน 24 ด้าน ของ Peterson และ Seligman (2004) ซึ่งมีการใช้อย่างแพร่หลายในการประเมินลักษณะเด่นของคนแต่ละประเทศในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ผลการวิจัยพบว่า คุณลักษณะเด่น 5 อันดับแรกของคนไทยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คือ 1) ความยุติธรรม ความเสมอภาคและความถูกต้อง 2) ความกตัญญู 3) ความเป็นส่วนหนึ่ง ความเป็นทีม และความจงรักภักดี 4) ความสามารถในการรักและถูกรัก และ 5) ความซื่อสัตย์ ความตรงไปตรงมาและความจริงใจ จากการวิเคราะห์ข้อมูลโดยเปรียบเทียบคุณลักษณะเด่น 5 อันดับแรก ระหว่างเพศชายและเพศหญิง และระหว่างกลุ่มอายุ 2 กลุ่ม ซึ่งได้แก่ วัยรุ่นตอนปลาย (17-20 ปี) และวัยผู้ใหญ่ (21-60 ปี) พบว่า กลุ่มตัวอย่างทุกกลุ่มมีคุณลักษณะเด่น 3 ด้านเหมือนกัน คือ 1) ความยุติธรรม ความเสมอภาคและความถูกต้อง 2) ความกตัญญู และ 3) ความเป็นส่วนหนึ่ง ความเป็นทีม และความจงรักภักดี นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์ทางสถิติโดยการวิเคราะห์ถดถอยแบบพหุคูณ (Multiple regression) พบว่า มีคุณลักษณะเด่น 4 ด้าน คือ 1) ความอยากรู้อยากเห็นและความสนใจในโลก 2) ความกตัญญู 3) ความสนุกสนาน ความกระตือรือร้นและพลังงาน และ 4) การให้อภัยและความกรุณา ที่มีอิทธิพลต่อความพึงพอใจของคนไทยทั้งในด้านชีวิตและในด้านการทำงาน โดยพบว่า ทั้ง 4 คุณลักษณะเด่นนี้สามารถร่วมกันทำนายความพึงพอใจในชีวิตของวัยรุ่นตอนปลาย (R[superscript 2] = 0.319, p < 0.001) และวัยผู้ใหญ่ (R[superscript 2] = 0.259, p < 0.001) รวมถึงสามารถทำนายความพึงพอใจในการทำงานของวัยผู้ใหญ่ (R[superscript 2] = 0.190, p < 0.001) อย่างมี นัยสำคัญทางสถิติ