Abstract:
วัตถุประสงค์: 1) เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพในผู้ป่วยมะเร็งช่องปากก่อนและหลังการรักษา 2) เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพระหว่างผู้ป่วยมะเร็งช่องปากและผู้ป่วยไลเคนพลานัสในช่องปาก วัสดุและวิธีการ: แบบประเมินคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพฉบับภาษาไทย ดัดแปลงจากแบบสอบถามคุณภาพชีวิตโดยมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนประเมินเฉพาะโรค (อาการเจ็บปวด รูปร่างใบหน้า กิจกรรมประจำวัน การพักผ่อนหย่อนใจ การกลืน การเคี้ยว การพูด ไหล่ การรู้รสชาติอาหาร น้ำลาย อารมณ์ ความวิตกกังวล) ลำดับความสำคัญของปัญหา คุณภาพชีวิตทั่วไป และคำถามปลายเปิด ผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก ณ โรงพยาบาลราชวิถี และคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการสัมภาษณ์ในวันที่เข้าพักในโรงพยาบาล หลังการผ่าตัด 25-49 วัน และหลังการรักษาเสร็จสมบูรณ์ 25-60 วัน การเปรียบเทียบคะแนนในผู้ป่วยมะเร็งช่องปากก่อนและหลังการรักษาใช้สถิติทดสอบวิลคอกซันไซน์แรงค์ฟอร์แมทแพร์ สถิติทดสอบแพร์ที และสถิติทดสอบแมกนีมา การเปรียบเทียบคะแนนระหว่างผู้ป่วยมะเร็งช่องปากก่อนการรักษา และผู้ป่วยไลเคนพลานัสในช่องปากใช้สถิติทดสอบแมนวิทนียู สถิติทดสอบอันแพร์ที และสถิติทดสอบไคสแคว์ การวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปเอสพีเอสเอสรุ่น 11.5 ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ผลการศึกษา: ผู้ป่วยมะเร็งช่องปากจำนวน 51 ราย เป็นชาย 37 ราย หญิง 14 ราย อายุระหว่าง 22-80 ปี (เฉลี่ย 55.8 ปี) 94% เป็นมะเร็งชนิดเซลล์สความัส ผู้ป่วย 57% ได้รับการผ่าตัดร่วมกับรังสีรักษา หลังการผ่าตัดผู้ป่วยมะเร็งช่องปากมีความผิดปกติมากขึ้นในหัวข้อ การกลืน การเคี้ยว การพูด และไหล่ หลังการรักษาเสร็จสมบูรณ์ ผู้ป่วยมะเร็งช่องปากมีความผิดปกติมากขึ้นในหัวข้อ การกลืน การเคี้ยว ไหล่ การรู้รสชาติอาหาร และน้ำลายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผู้ป่วยมะเร็งช่องปากมีความผิดปกติมากกว่าผู้ป่วยไลเคนพลานัสในช่องปาก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเกือบทุกหัวข้อในส่วนประเมินเฉพาะโรค สรุป: หลังการรักษา ผู้ป่วยมะเร็งช่องปากมีคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพเลวร้ายกว่าก่อนรักษา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และผู้ป่วยมะเร็งช่องปากมีคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพเลวร้ายกว่าผู้ป่วยไลเคนพลานัสในช่องปาก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ