Abstract:
ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ที่ใช้เป็นอาหารมีการใช้โปรไบโอติกอย่างแพร่หลายพอควร รวมทั้งในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ เนื่องจากโปรไบโอติกสามารถช่วยปรับความสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ เสริมสร้างสุขภาพและการเจริญเติบโตของสัตว์ แต่อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์โปรไบโอติกที่ใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น ในการศึกษาครั้งนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อทำการคัดเลือกเชื้อ Enterococcus faecium จากทางเดินอาหารของไก่พื้นเมืองมาใช้เป็นโปรไบโอติก โดยการแยกเชื้อจากไก่พื้นเมืองจำนวน 30 ตัวอย่าง ซึ่งสามารถแยกเชื้อ E. faecium ได้ทั้งสิ้น 60 สายพันธุ์ จากนั้นนำเชื้อมาทำการทดสอบคุณสมบัติของโปรไบโอติกในเบื้องต้นคือ การทดสอบการทนต่อกรด (pH 2) และเกลือน้ำดี ผลการทดสอบพบเชื้อ E. faecium จำนวน 15 สายพันธุ์ที่สามารถทนต่อกรดได้ และที่ทนได้ดี คือ EFMC 21, EFMC 17, EFMC 24, EFMD 25, EFMI 47 และ EFMI 49 ส่วนการทนต่อเกลือน้ำดี พบว่ามีจำนวน 4 สายพันธุ์ที่ทนได้นานถึง 4 ชั่วโมง คือ EFMC 21, EFMD 30, EFMI 47 และ EFMI 49 หลังจากนั้นนำเชื้อ E. faecium ทั้ง 15 สายพันธุ์มาทำการทดสอบความสามารถในการจับเกาะกับเยื่อเมือกของลำไส้ พบเชื้อ E. faecium จำนวน 2 สายพันธุ์ คือ EFMI 47 และ EFMI 49 ที่สามารถจับเกาะได้ดีเมื่อเทียบกับเชื้อ E. faecium ที่แยกได้จากผลิตภัณฑ์โปรไบโอติก (EFC) ส่วนการทดสอบประสิทธิภาพในการยับยั้งแบคทีเรียก่อโรคพบว่าเชื้อ E. faecium จำนวน 7 สายพันธุ์ คือ EFMC 17, EFMC 21, EFMC 24, EFMD 29, EFMD 30, EFMI 46 และ EFMI 49 ที่มีประสิทธิภาพการยับยั้งแบคทีเรียก่อโรคได้ดีเมื่อเทียบกับ EFC การทดสอบหาชนิดของสารยับยั้งแบคทีเรียก่อโรคพบเชื้อ E. faecium ทุกสายพันธุ์สามารถสร้างกรดได้และมี 4 สายพันธุ์ที่สามารถสร้าง แบคเทอริโอซินได้คือ EFMC 21, EFMD 25, EFMI 47 และ EFMI 49 เมื่อพิจารณาจากคุณสมบัติการเป็นโปรไบโอติกของเชื้อ E. faecium ทั้ง 15 สายพันธุ์ดังที่กล่าวมา สรุปได้ว่าพบเชื้อ E. faecium จำนวน 2 สายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติการเป็นโปรไบโอติกที่ดีที่สุดจากการศึกษาครั้งนี้ คือ EFMI 47 และ EFMI 49 เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่สามารถทนต่อกรด (pH 2) ได้ดีกว่าสายพันธุ์อื่นที่ทดสอบ สามารถทนต่อน้ำดีได้นานถึง 4 ชั่วโมง สามารถยึดติดกับเยื่อเมือกผนังลำไส้ได้ดีที่สุด สามารถยับยั้งแบคทีเรียก่อโรคได้ และสามารถสร้างกรดและแบคเทอริโอซินได้ ทั้งนี้การทดสอบความไวรับต่อยาต้านจุลชีพของเชื้อทั้งสองสายพันธุ์นี้พบว่า มีความไวรับต่อยา amoxicillin+clavulanic, ciprofloxacin, gentamycin, trimethoprim+sulphamethoxazole, vancomycin และ trimethoprim ในขณะที่ดื้อต่อยา cefotaxime, erythromycin และ tetracycline การทดสอบยืนยันสายพันธุ์ของเชื้อที่แยกได้ โดยใช้เทคนิค PCR และ DNA-DNA hybridization โดยผลการศึกษายืนยันว่าเชื้อที่แยกได้คือเชื้อ E. faecium ทั้งสองสายพันธุ์