Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการเสริมกากพริกขี้หนู (Capsicum frutescens Linn.) ต่อการเจริญเติบโต การย่อยได้บริเวณลำไส้เล็กส่วนปลาย และการเกิดลิปิดเปอร์ออกซิเดชั่น ในไก่เนื้อภายใต้สภาวะการเลี้ยงหนาแน่น โดยใช้ไก่เนื้อ เพศผู้ พันธุ์ Cobb 500 อายุ 1 วัน จำนวน 664 ตัว แบ่งออกเป็น 10 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ซ้ำ โดยที่ 9 กลุ่ม เลี้ยงที่ความหนาแน่นสูงอีก 1 กลุ่มที่เหลือเลี้ยงที่ความหนาแน่นปกติ ไก่ถูกเลี้ยงปล่อยพื้นในโรงเรือนเปิดเป็นเวลา 41 วัน อาหารทดลองประกอบด้วยอาหารควบคุม 2 กลุ่มใช้เลี้ยงไก่ที่ความหนาแน่นแตกต่างกัน อาหารควบคุมเสริมด้วยอะวิลามัยซินระดับ 2.5 มก./กก. อาหารควบคุมเสริมด้วยวิตามินอีระดับ 250 มก./กก. และอาหารที่ประกอบด้วยสารสกัดจากพริก พริกป่น และกากพริกในระดับที่ให้แคปไซซินเท่ากับ 20 และ 30 มก./กก. ตามลำดับ ในวันที่ 21 และ 41 ของการทดลอง บันทึกน้ำหนักตัว ปริมาณอาหารที่กิน และสุ่มไก่ซ้ำละ 2 ตัว เก็บตัวอย่างเลือดที่เส้นเลือดดำบริเวณปีก เพื่อตรวจวัดดัชนีความเครียดและปริมาณการเกิดกระบวนออกซิเดชั่นของไขมันในเลือด (lipid peroxidation) และเก็บตัวอย่างอาหารบริเวณลำไส้เล็กส่วนปลายเพื่อหาการย่อยได้ รวมทั้งศึกษาความคงตัวของสารสำคัญในพริก
ผลการทดลองความคงตัวของสารแคปไซซินในกากพริกพบว่าเมื่อระยะเวลาการเก็บรักษาเพิ่มขึ้นปริมาณสารแคปไซซินในกากพริกลดลงมากกว่าพริกในรูปแบบอื่น ไก่ที่ได้รับพริกทุกรูปแบบมีแนวโน้มช่วยลดความเครียดได้ (P>0.05) และสามารถลดปริมาณการเกิดกระบวนออกซิเดชั่นของไขมันในเลือดได้ต่ำกว่ากลุ่มควบคุมที่มีการเลี้ยงอย่างหนาแน่นได้อย่างชัดเจน (P<0.05) แต่ไม่แตกต่างกับกลุ่มควบคุมที่เลี้ยงที่ความหนาแน่นปกติ และกลุ่มที่เสริมสารปฏิชีวนะหรือวิตามินอี (P>0.05) ทั้งในไก่อายุ 21 และ 41 วัน ค่าการย่อยได้ของโภชนะที่ทำการตรวจวัดบริเวณลำไส้เล็กส่วนปลายในไก่ที่อายุ 21 และ 41 วันของทุกกลุ่มไม่แตกต่างกัน (P>0.05) เมื่อพิจารณาการเจริญเติบโตตลอดการทดลอง (0-41 วัน) พบว่า อาหารที่มีพริกทุกรูปแบบเป็นส่วนประกอบ ให้น้ำหนักสิ้นสุดการทดลอง และน้ำหนักตัวตัวที่เพิ่มขึ้นสูงกว่ากลุ่มควบคุมที่เลี้ยงที่ความหนาแน่นสูง (P<0.05) แต่ไม่แตกต่างกับกลุ่มควบคุมที่เลี้ยงที่ความหนาแน่นปกติ และกลุ่มที่เสริมสารปฏิชีวนะ (P>0.05) กากพริกให้น้ำหนักเพิ่มสูงกว่าสารสกัดหยาบจากพริกในรูปแกรนูลแต่ไม่แตกต่างจากพริกป่น สำหรับระดับของแคปไซซินที่ใช้ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ (P>0.05) ผลการทดลองสรุปได้ว่า กากพริกสามารถใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้ดีในการเพิ่มน้ำหนักตัว และระดับสารแคปไซซินที่ใช้เพียง 20 มก./กก. สามารถช่วยลดการเกิดออกซิเดชั่นของไขมันในเลือดไก่เนื้อได้ ในการเลี้ยงไก่ที่ความหนาแน่นสูง ผลตอบสนองของการให้พริกต่อการเจริญเติบโตและการเกิดออกซิเดชั่นของไขมันในเลือดให้ผลในระยะแรกสูงกว่าระยะหลัง