Abstract:
คนงานที่ทำงานในโรงงานถ่านไฟฉายมีโอกาสสัมผัสกับแมงกานีสและตะกั่ว จึงได้ศึกษาสุขภาพของคนงานทำถ่านไฟฉาย 147 คน ซึ่ง 95% เป็นหญิง มีอายุระหว่าง 18-60 ปี พบว่ามีเปลือกตาซีด ปฏิกิริยาตอบสนองทางประสาทไว ความดันเลือดสูง มีอาการทางระบบทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร มีโรคผิวหนัง ปวดข้อ ปวดหัวและอาการอื่น ๆ อาการอย่างใดอย่างหนึ่งมีพบในคนงาน 75% อาการที่พบบ่อยที่สุด คือ ปวดหัว 38.5% รองลงมาคือ ซีด 27.4% อาการทางเดินอาหาร 21.5% อาการทางประสาท 20.7% ปวดข้อ 20% และอาการอื่น ที่พบน้อย ผลการตรวจระดับแมงกานีสในเลือดพบว่ามีค่าระหว่าง 1-5.99 ไมโครกรัม% ค่าเฉลี่ย 2.9 ไมโครกรม% สูงกว่าในกลุ่มควบคุมซึ่งมีค่าเฉลี่ย 0.87 ไมโครกรัม% และกลุ่มที่มีระดับสูงเกินปกติ (มากกว่า 4 ไมโครกรัม%) พบได้ 15% ส่วนระดับตะกั่วในเลือดมีค่าระหว่าง 1-50 ไมโครกรัม% ค่าเฉลี่ย 17.95% ค่าสูงกว่าปกติ (มากกว่า 40 ไมโครกรัม%) พบ 3% อาการต่าง ๆ พบได้ในกลุ่มคนงานที่มีระดับตะกั่วหรือแมงกานีสว่าพอ ๆ กับกลุ่มที่มีระดับสูง การศึกษาฮีโมโกลบินและรูปลักษณะของเม็ดเลือดแดง พบว่าคนงานที่มีค่าฮีโมโกลบินต่ำกว่าปกติ (มากกว่า 12 กรัม%) มี 31% และในจำนวนนี้มีระดับแมงกานีสสูงร่วมด้วย 36.8% ส่วนคนงานที่มีค่าแมงกานีสปกติจะพบเปอร์เซ็นต์การผิดปกติของฮีโมโกลบินน้อยลงตามไปด้วย ลักษณะของเม็ดเลือดแดงผิดปกติเกิน +1 ขึ้นไป ซึ่งได้แก่ target cell, burr cell, size, shape และ basophilic stippling อย่างใดอย่างหนึ่ง พบได้ในคนงาน 25% และในจำนวนนี้ 47% มีค่าแมงกานีสสูงเกิน 4 ไมโครกรัม% ส่วนกลุ่มที่มีค่าตะกั่วสูงไม่พบการเปลี่ยนแปลง แสดงว่าค่าฮีโมโกลบินต่ำและลักษณะผิดปกติของเม็ดเลือดแดงอาจมีความสัมพันธ์กับระดับแมงกานีสในเลือด เมื่อศึกษาเอ็นซัยม์ในเลือดพบว่ามีความผิดปกติของ cholinesterase, SGOT, SGPT และ alkaline phosphatase ในคนงาน 11.56%, 2&, 2% และ 7.4% ตามลำดับ และระดับสารในเลือดคือ total protein, albumin, urea, uric acid และ serum iron ผิดปกติ 10.2%, 8.1%, 4.7%, 3.4% และ 5.4% ส่วน creatinine ปกติไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างแมงกานีสและตะกั่ว ต่อการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีที่ศึกษาทั้งหมด คณะผู้รายงานได้วิจารณ์การหยิบบกเอาระดับแมงกานีสและตะกั่วในเลือดมาเปรียบเทียบกับความผิดปกติที่เกิดจากการสัมผัสสารเหล่านี้