Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมความปลอดภัยในการปฏิบัติงานกับสารเคมี และ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมความปลอดภัยในการปฏิบัติงานกับสารเคมีของพนักงานในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ จังหวัดชลบุรี โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากตัวอย่างจำนวน 504 ราย ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้กรอกแบบสอบถามด้วยตนเอง ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีพฤติกรรมความปลอดภัยในการปฏิบัติงานกับสารเคมีค่อนข้างเหมาะสม ผลการวิเคราะห์การถดถอยแบบง่ายพบว่าตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมความปลอดภัยในการปฏิบัติงานกับสารเคมีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 มีทั้งสิ้น 8 ตัวแปร คือ เพศ ความรู้ด้านความปลอดภัยในการปฏิบัติงานกับสารเคมี การรับรู้ความเสี่ยงจากการปฏิบัติงานกับสารเคมี การรับรู้ความรุนแรงของอันตรายจากการปฏิบัติงานกับสารเคมี ความคาดหวังประโยชน์จากการปฏิบัติงานกับสารเคมีอย่างปลอดภัย ความคาดหมายอุปสรรคของการปฏิบัติงานกับสารเคมีอย่างปลอดภัย การรับสารด้านความปลอดภัยในการปฏิบัติงานกับสารเคมีจากสื่อบุคคล และการรับสารด้านความปลอดภัยในการปฏิบัติงานกับสารเคมีจากสื่อเฉพาะกิจ สำหรับผลการวิเคราะห์การถดถอยแบบพหุขั้นตอนพบว่าตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมความปลอดภัยในการปฏิบัติงานกับสารเคมีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 มีทั้งสิ้น 7 ตัวแปรซึ่งร่วมกันอธิบายการแปรผันของพฤติกรรมความปลอดภัยในการปฏิบัติงานกับสารเคมีได้ร้อยละ 20.7 โดยตัวแปรที่มีอิทธิพลทางบวกต่อพฤติกรรมความปลอดภัยในการปฏิบัติงานกับสารเคมีมี 5 ตัวแปร คือ ความคาดหวังประโยชน์จากการปฏิบัติงานกับสารเคมีอย่างปลอดภัย ความรู้ด้านความปลอดภัยในการปฏิบัติงานกับสารเคมี การรับรู้ความเสี่ยงจากการปฏิบัติงานกับสารเคมี การรับสารด้านความปลอดภัยในการปฏิบัติงานกับสารเคมีจากสื่อเฉพาะกิจ และการรับรู้ความรุนแรงของอันตรายจากการปฏิบัติงานกับสารเคมี ในขณะที่ตัวแปรที่มีอิทธิพลทางลบต่อพฤติกรรมความปลอดภัยในการปฏิบัติงานกับสารเคมี คือ ความคาดหมายอุปสรรคของการปฏิบัติงานกับสารเคมีอย่างปลอดภัย และการศึกษา ข้อค้นพบนี้แสดงว่า ผู้วิจัยสามารถประยุกต์ใช้แบบจำลองความเชื่อด้านสุขภาพของ Rosenstock ในการอธิบายพฤติกรรมความปลอดภัยในการปฏิบัติงานกับสารเคมี และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานด้านความปลอดภัยสามารถนำข้อค้นพบจากการศึกษานี้เป็นแนวทางในการรณรงค์ด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง