Abstract:
ศึกษาพฤติกรรมอาสาและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมอาสาของนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลจากตัวอย่างนิสิตนักศึกษา 2 มหาวิทยาลัย ด้วยแบบสอบถามที่นิสิตนักศึกษาเป็นผู้กรอกด้วยตนเอง จำนวน 769 คน ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ (88.3%) เคยทำกิจกรรมอาสา ซึ่งกิจกรรมที่ทำมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ กิจกรรมเข้าร่วมอาสาทำความสะอาดบริเวณมหาวิทยาลัย (57.6%) กิจกรรมอาสาติวหนังสือให้เพื่อนหรือรุ่นน้อง (53.0%) และกิจกรรมเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครรับบริจาคสิ่งของแจกจ่ายแก่ผู้ด้อยโอกาสหรือผู้ประสบภัยต่างๆ (51.8%) ตามลำดับ และกิจกรรมที่กลุ่มตัวอย่างทำน้อยที่สุด 3 อันดับแรกคือ กิจกรรมเข้าร่วมอาสาดูแลคนพิการ (18.0%) กิจกรรมเข้าร่วมอาสาสอนหนังสือคนพิการ (19.3%) และกิจกรรมเข้าร่วมอาสาดูแลผู้สูงอายุ (20.8%) ตามลำดับ ผลการวิเคราะห์การถดถอยแบบง่ายพบว่า พฤติกรรมอาสาแปรผันตามอายุ จำนวนสมาชิกในครัวเรือนที่ทำกิจกรรมอาสา จำนวนเพื่อนที่ทำกิจกรรมอาสา การสนับสนุนทางสังคม ชั้นปีที่ศึกษา สถาบันอุดมศึกษาของเอกชน และภูมิลำเนานอกเขตเทศบาล อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 อย่างไรก็ดีผลการวิเคราะห์การถดถอยแบบพหุพบว่า ตัวแปรทั้ง 16 ตัวสามารถร่วมกันอธิบายความแปรผันของพฤติกรรมอาสาได้ 9.6% ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05
ส่วนการวิเคราะห์ถดถอยพหุแบบขั้นตอนพบว่า ตัวแปรการสนับสนุนทางสังคมสามารถอธิบายการแปรผันของพฤติกรรมอาสาได้ดีที่สุดคือ 4.0% รองลงไปคือ ตัวแปรจำนวนสมาชิกในครัวเรือนที่ทำกิจกรรมอาสา ชั้นปีที่ศึกษา จำนวนเพื่อนที่ทำกิจกรรมอาสา และประเภทของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเพิ่มอำนาจการอธิบายการแปรผันของพฤติกรรมอาสาได้ 1.6%, 1.0%, 0.7%, 0.7% ตามลำดับ ส่วนตัวแปรเพศ อายุ ลำดับที่การเป็นบุตร สาขาวิชา เกรดเฉลี่ย จำนวนเวลาว่างต่อสัปดาห์ เงินใช้จ่ายที่ได้รับต่อเดือน ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว สถานภาพสมรสของบิดามารดา ภูมิลำเนาเดิม และจำนวนปีที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ไม่ได้เพิ่มอำนาจการอธิบายการแปรผันของพฤติกรรมอาสา ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05