Abstract:
ผู้ปฏิบัติในโครงการก่อสร้างมีโอกาสสัมผัสกับมลพิษค่อนข้างสูง โดยปัญหาที่พบส่วนใหญ่เป็นการเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่ไม่เหมาะสมกับงานที่ปฏิบัติและผู้ปฏิบัติงานไม่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันในขณะทำงาน จากงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่าปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้อุปกรณ์ป้องกันมลพิษทางอากาศส่วนบุคคลคือ กฎหมายมีความซ้ำซ้อนยากแก่การปฏิบัติ ภาครัฐไม่มีการส่งเสริม ผู้รับเหมาไม่ให้ความร่วมมือ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยไม่สามารถทำงานเต็มประสิทธิภาพ การขาดความร่วมมือ และแรงงานไม่มีความรู้ อย่างไรก็ตามงานวิจัยในอดีตยังขาดการศึกษาความสามารถในการป้องกันมลพิษทางอากาศและกลยุทธ์ในการสนับสนุนการปฏิบัติ งานวิจัยนี้พยายามศึกษาความสามารถในการป้องกันและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันมลพิษทางอากาศส่วนบุคคลขณะปฏิบัติงานก่อสร้าง โดยการดำเนินงานวิจัยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนกล่าวคือ งานวิจัยในส่วนแรกเป็นการสำรวจการใช้งานอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลทางอากาศจากคนงานก่อสร้างที่ทำงานใน 10 กิจกรรมหลักจากโครงการก่อสร้างจำนวน 34 แห่ง โดยความสามารถในการป้องกันมลพิษทางอากาศส่วนบุคคลวิเคราะห์จากการเปรียบเทียบเป็นร้อยละของจำนวนชนิดมลพิษที่สามารถป้องกันได้เทียบกับจำนวนชนิดมลพิษที่เผชิญในขณะปฏิบัติงาน งานวิจัยในส่วนที่สองเป็นการสร้างกลยุทธ์ในการส่งเสริมการใช้งานอุปกรณ์ป้องกันมลพิษทางอากาศส่วนบุคคลในหน่วยงานก่อสร้าง และวิศวกรความปลอดภัย 20 ตัวอย่าง โดยงานวิจัยใช้ SWOT เป็นเครื่องมือในการกำหนดกลยุทธ์ ผลการวิจัยด้านความสามารถในการป้องกันมลพิษทางอากาศส่วนบุคคลในงานก่อสร้าง พบว่าโครงการก่อสร้างในประเภทโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่นอกเขตและในเขตนิคมอุตสาหกรรมมีความสามารถในการป้องกันมลพิษทางอากาศเฉลี่ยสูงเป็นร้อยละ 12.73 และ 22.29 ตามลำดับในขณะที่ผู้รับเหมาขนาดใหญ่ และผู้รับเหมาที่ได้รับมาตรฐาน ISO9000 ISO14000 และ OSHA18000 มีความสามารถในการป้องกันมลพิษทางอากาศเฉลี่ยสูงเป็นร้อยละ 13.83 และ 26.35 ตามลำดับ ผลการศึกษาพบว่างานเชื่อมด้วยก๊าชเป็นงานที่มีความสามารถในการป้องกันเฉลี่ยสูงเป็นร้อยละ 14.05 นอกจากนี้ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับระดับความสามารถในการป้องกันมลพิษทางอากาศส่วนบุคคลคือ ผู้รับเหมาก่อสร้างแรงงาน เจ้าของโครงการ ประเภทของงานก่อสร้าง ประเภทโครงการก่อสร้าง สภาพแวดล้อมในการทำงาน ผลการกำหนดกลยุทธ์ในการยกระดับการป้องกันมลพิษทางอากาศส่วนบุคคลประกอบด้วย ผู้บริหารต้องประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรในโครงการเข้าใจในปฏิบัติการป้องกัน (SO) การส่งเสริมให้แรงงานแบ่งกลุ่มดูแลซึ่งกันและกัน (SO) การเพิ่มบทลงโทษแก่ผู้บริหารโครงการ วิศวกร และเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยของโครงการที่ไม่มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน (WO) การปรับปรุงรูปแบบการสื่อสารพร้อมทั้งให้มีตรวจสอบความรู้เรื่องสิทธิ์ที่พึ่งจะได้และการป้องกันแก่แรงงาน (WO)การนำระบบการป้องกันมลพิษทางอากาศทางวิศกรรมมาใช้ควบคู่กับการป้องกันมลพิษทางอากาศส่วนบุคคล (ST) การเลือกใช้แรงงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (ST) การนำเทคโนโลยีมาใช้ในโครงการเพื่อตรวจสอบการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลของบุคลากรที่ปฏิบัติงาน (WT)